กรมสุขภาพจิต แนะ ออกพรรษา เปิดใจกว้าง ละความโกรธด้วยการให้อภัย

21 Oct 2013

กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--กรมสุขภาพจิต

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันออกพรรษา เป็นวันที่ชาวพุทธได้พร้อมใจกันทำบุญกุศลต่าง ๆ ตามประเพณีที่เคยประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ ทั้งนี้ วันออกพรรษามีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า " วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา" ซึ่งหมายถึง การที่พระภิกษุทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อยต่างเปิดโอกาส อนุญาตกันและกัน ให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้โดยไม่ต้องเกรงใจด้วยเจตนาดีต่อกัน คือ พระผู้ใหญ่สามารถกล่าวตักเตือนพระผู้น้อยได้และพระผู้มีอาวุโสน้อยก็สามารถกล่าวชี้แนะถึงข้อไม่ดีของพระผู้ใหญ่ได้เช่นกัน โดยที่พระผู้ใหญ่ คือ ผู้มีอาวุโสก็มิได้สำคัญตนผิดคิดว่าทำอะไรถูกไปหมดทุกอย่าง ซึ่งการปวารณาเป็นเหมือนการระวัง ทำให้ไม่เกิดความประมาท และไม่ยอมให้สิ่งไม่ดีเกิดขึ้น

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า พุทธศาสนิกชนสามารถนำเอาพิธีปวารณาของพระมาลองปฏิบัติได้เช่นกัน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการอยู่ร่วมกัน ช่วยคลายความคลางแคลงขุ่นข้องหมองใจ เป็นโอกาสในการปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน ช่วยสร้างเสริมความสามัคคีให้เกิดขึ้น เกิดความเสมอภาคในการแสดงความคิด การว่ากล่าวตักเตือน โดยไม่ยึดติดกับเพศ อายุ หรือชนชั้นฐานะ ตลอดจนเกิดความเป็นมิตรที่มีความปรารถนาดีต่อกัน

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงออกพรรษานี้ จึงถือเป็นโอกาสดีที่พุทธศาสนิกชนจะพร้อมใจกันเปิดใจกว้าง ยอมรับข้อดีข้อบกพร่องของตัวเองและรับฟังความคิดหรือความเห็นที่แตกต่างจากคนอื่น เพราะปกติคนเรามักไม่รู้ตัว มองไม่เห็นข้อบกพร่องของตนเอง ชอบลำเอียงเข้าข้างตนเอง แต่ผู้ที่อยู่ข้าง ๆ มักจะมองเห็นข้อบกพร่องของเรา แต่ไม่กล้าเตือน ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีที่จะใช้ช่วงเวลานี้ปวารณาตัวให้ผู้อื่นชี้แนะได้ โดยการเปิดใจซึ่งกันและกันอย่างไม่มีเล่ห์เหลี่ยมหรือลับลมคมในใด ๆ ตลอดจนไม่คิดว่าสิ่งที่คิดที่ทำนั้นถูกต้องอยู่เพียงคนเดียว เพราะถ้าคิดหรือทำเช่นนั้นย่อมทำให้จิตใจคับแคบลงและทำให้เกิดความเครียดขึ้นได้ นอกจากนี้ คนเรามักตกเป็นทาสของความโกรธ เนื่องจากไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการหรือคาดหวังไว้ ทำให้เกิดความทุกข์ใจ และเมื่อใดที่ไม่สามารถควบคุม หรือจัดการอารมณ์โกรธนั้นได้ ย่อมทำให้เกิดการระเบิดอารมณ์ ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมแสดงออกที่ก้าวร้าว รุนแรง ที่อาจแสดงออกด้วยคำพูดหรือการทำร้ายตนเองและผู้อื่นในที่สุด และยังเป็นเหตุให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย อาทิ ประสาทตึงเครียด ปวดศีรษะไมเกรน ปวดหลัง ปวดท้อง เป็นโรคกระเพาะ ความดันโลหิตสูง และเป็นโรคหัวใจ ดังนั้น การสกัดกั้นอารมณ์โกรธจึงเป็นเหมือนการตัดไฟแต่ต้นลม ถึงแม้ทำยากแต่จำเป็นต้องฝึกฝนให้ติดเป็นนิสัย ซึ่งเมื่อใดถ้าเรารู้เท่าทันอารมณ์โกรธของตัวเอง สามารถระงับหรือควบคุมความโกรธนั้นได้อย่างเหมาะสมแล้ว ก็ย่อมมีความสุขและสามารถควบคุมคนอื่นได้เช่นกัน

อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้แนะวิธีการลดละความโกรธด้วยการให้อภัย โดยบอกว่า ผู้ที่ไม่สามารถให้อภัยได้ย่อมทำให้เกิดความทุกข์เรื้อรัง มักโกรธและผิดหวังได้ง่ายๆ การให้อภัยจึงเป็นการเปิดโอกาสให้กับตัวเองและผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นได้แก้ไขปรับปรุงตัว และทำให้ตัวเองได้รู้จักปล่อยวาง ฝึกนิสัยและจิตใจให้เย็นลง ไม่หลงตัวเอง ไม่เรื่องมาก ลดความกังวล ลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าและเป็นโรคประสาท ทำให้เข้าอกเข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้น มีอายุยืนและมีความสุขมากขึ้น การให้อภัยจึงเป็นเสมือนภูมิคุ้มกันโรคทางจิต ทำให้สุขภาพจิตดี มีความสุข และผู้ที่ทำได้ย่อมเป็นผู้ชนะ ตลอดจนเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับตนเอง

www.dmh.go.th

-กผ-

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit