กรมสุขภาพจิต ชวนคนไทย สร้าง 3ส. พร้อมเปิดตัวแอพ ป้องกันและช่วยเหลือผู้เสี่ยงฆ่าตัวตาย

12 Sep 2016
ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต พ.อ.หญิงนวพร หิรัญวิวัฒน์กุล นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และนางรัชนี แมนเมธี กรรมการสมาคมสายใยครอบครัว แถลงข่าวเนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ประจำปี 2559 (World Suicide Prevention Day 2016) ภายใต้แนวคิด "Connect. Communicate. Care. : สัมพันธ์ สื่อสาร ใส่ใจ"

นพ.เจษฎา กล่าวว่า ปี 2558 อัตราฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.47 ต่อแสนประชากร มากกว่าปีที่ผ่านมา ที่มีอัตรา 6.08 ต่อแสนประชากร เฉลี่ยเดือนละ 350 คน หรือ ทุกๆ 2 ชั่วโมง คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน แต่ถือว่ายังอยู่ในอัตราปกติตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ที่ไม่เกิน 7.0 ต่อแสนประชากร ภาคเหนือยังคงมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่น มีเพียงภาคใต้เท่านั้นที่ลดลง ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายเมื่อสิ้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในปี 2564 ลดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ไม่เกิน 6.0 ต่อแสนประชากร ซึ่งการแก้ไขปัญหา กระทรวงสาธารณสุข ได้ใช้ 4 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1.คัดกรอง ประเมิน บำบัดรักษา และติดตามกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายอย่างใกล้ชิด 2.เพิ่มการเข้าถึงบริการ ค้นหาเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ อาทิ ผู้ที่มีประวัติฆ่าตัวตายและมีความรุนแรงในครอบครัว มีปัญหาติดสุรา โรคจิต โรคซึมเศร้า และโรคเรื้อรัง ให้เข้าสู่ระบบบริการช่วยเหลือดูแล 3.พัฒนาระบบฐานข้อมูลที่ทันสมัย น่าเชื่อถือ นำเสนอข้อมูลปัญหาของแต่ละเขตบริการสุขภาพ เพื่อใช้กำกับติดตามประเมินสถานการณ์และวางแผนแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด และ 4.ยกระดับปัญหาการฆ่าตัวตายให้เป็นปัญหาระดับชาติ ประสานความร่วมมือองค์กรภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความตระหนักเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพจิต ใส่ใจสัญญาณเตือน ป้องกันการฆ่าตัวตาย ลงมือแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง

ขอย้ำว่า ปัญหาการฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องใกล้ตัว เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และสามารถป้องกันได้ ทุกคนช่วยได้ สื่อมวลชนก็ช่วยได้ ขอให้เริ่มต้นที่ "ครอบครัว" ด้วยการสร้าง "3ส."ได้แก่ การมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน (Connect) สื่อสารดีต่อกัน (Communicate) และ ใส่ใจซึ่งกันและกัน (Care) ซึ่งนับเป็นวัคซีนสำคัญที่จะช่วยป้องกันและลดปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมลงได้ ประชาชนปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 และสถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง นอกจากนี้ สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น sabaijai ทั้งในระบบ android และ ios เพื่อประเมินภาวะเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง พร้อมรับแนวทางการช่วยเหลือ และขอเชิญชวนพี่น้องภาคอีสานเข้าร่วมงาน "ฮักแน่ แค่ Hug" เนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ได้ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา จ.ขอนแก่น ระหว่างวันที่ 9-11 กันยายนนี้ ตั้งแต่เวลา 10.30 น. เป็นต้นไป อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า แม้อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยจะยังอยู่ในอัตราปกติตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก กรมสุขภาพจิตยังคงดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดย รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ได้ศึกษาและวิเคราะห์ถึงปัจจัยและสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย พบว่า ความรักความ หึงหวงเป็นปัจจัยสำคัญนำไปสู่การทำร้ายตนเองมากที่สุด รองลงมา คือ โรคซึมเศร้า และน้อยใจคนใกล้ชิดดุด่า ช่วงอายุที่ฆ่าตัวตาย พบได้ตั้งแต่อายุ 10 - 97 ปี วัยแรงงาน 30 ปีขึ้นไปยังคงมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง รองลงมา คือ กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มราชการ ผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สูงกว่าผู้หญิงถึง 4 เท่า ที่น่าเป็นห่วงและต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด คือ แรงงานชาย 35-39 ปี และผู้สูงอายุ 70-74 ปี สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาความสัมพันธ์ ที่เห็นได้ชัด คือ การไม่ได้รับความรักจากลูกหลานและคนใกล้ชิด รองลงมา คือ เจ็บป่วยด้วยโรคทางกาย/ทางจิต โดยเฉพาะ โรคซึมเศร้า นอกจากนี้ ผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณร้อยละ 2 จะมีการทำร้ายผู้อื่นร่วมด้วย โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 40-44 ปี และ 15-19 ปี เกินครึ่งมีครอบครัวแล้ว ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร รวมทั้งพบว่า ประมาณร้อยละ 8 เคยถูกทำร้ายมาก่อน และร้อยละ 19 ก็เคยทำร้ายตัวเองมาก่อน สาเหตุยังคงเป็นปัญหาความสัมพันธ์ ความรักความหึงหวง ทะเลาะกับคนใกล้ชิด และน้อยใจที่ถูกดุด่า

ด้าน พ.อ.หญิงนวพร หิรัญวิวัฒน์กุล นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวย้ำว่า การฆ่าตัวตาย ป้องกันได้ การแสดงออกถึงการจะทำร้ายตัวเองไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือพฤติกรรม เช่น การส่งข้อความ ภาพ คลิปวีดีโอ ข่มขู่ตัดพ้อ หรือพูดจาสั่งเสียเป็นนัยๆ หรือการโพสต์ภาพวิธีที่จะใช้ฆ่าตัวตาย ถือเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญที่สุดที่จะเกิดการทำร้ายตนเองจริงได้ อย่ามองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ ไร้สาระ หรือล้อเล่น จำเป็นต้องดำเนินการช่วยเหลือทันที การช่วยเหลือที่ดีที่สุดคือ การทำให้เขาตั้งสติให้ได้ ซึ่งหากเราไม่สามารถช่วยเหลือหรือจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง อาจช่วยได้โดยการเชื่อมต่อหาคนพูดคุยด้วย เช่น คนที่เขารัก ไว้ใจ หรือใกล้ชิดที่สุด เพื่อช่วยดึงสติเขากลับมา หรือขอความช่วยเหลือจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 สมาคมสมาริตันส์ หรือที่facebook สมาคมจิตแพทย์แห่งประทศไทย ที่สำคัญ ขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายด้วยความระมัดระวัง ซึ่งจะช่วยลดและป้องกันการเกิดพฤติกรรมเลียนแบบในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กและวัยรุ่นและผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ลงได้

นางรัชนี แมนเมธี กรรมการสมาคมสายใยครอบครัว กล่าวเสริมว่า ทุกครั้งที่มีข่าวการฆ่าตัวตาย จะรู้สึกสะเทือนใจมากและจะยิ่งมากขึ้นถ้ากระทำเพราะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เนื่องจากมีประสบการณ์ตรงและผ่านมาได้ ซึ่งในช่วงเวลาที่ไม่มีใครเข้าใจ จะเป็นช่วงนาทีสำคัญที่ต้องการความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิดมากที่สุด ทุกคนช่วยได้ โดยต้องเข้าใจ ให้ความรัก มีทักษะการสื่อสารและสังเกตสัญญาณเตือน ตลอดจน รู้และประสานแหล่งช่วยเหลือได้เร็ว และในวันที่ 10 ก.ย. วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก จึงขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมงาน "10 กันยาคืนคุณค่าชีวิต" ประเด็น "ให้โอกาส" ณ เอสพลานาดแคราย ชั้น 1 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. พบกับนักวิชาชีพและผู้มีประสบการณ์ตรงกับการป่วยมาให้การปรึกษาการรับมือกับโรค พร้อมแหล่งช่วยเหลือต่างๆ เป็นต้น