กรม คร. เตือน ปปช. กินอาหารทะเลดิบๆ สุกๆ ระวังโรคอาหารเป็นพิษ

14 Mar 2014
โรคอาหารเป็นพิษพบได้ทั่วโลก การระบาดมักเกิดจากการบริโภคอาหารทะเลที่ปรุงไม่สุกและน้ำที่ปนเปื้อน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเดือนที่อบอุ่นของปี สำหรับประเทศไทยอัตราป่วยโรคอาหารเป็นพิษมีแนวโน้มสูงขึ้นมีรายงานระบุเชื้อก่อโรคได้เพียงร้อยละ 0.1-6 เนื่องจากอาการป่วยไม่รุนแรง ผู้ป่วยมักไม่มารับการตรวจและรักษาในสถานบริการสุขภาพ การรับประทานอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อนทั่วถึง สดใหม่และสะอาด หมั่นล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และหลังขับถ่าย ป้องกันโรคได้
กรม คร. เตือน ปปช. กินอาหารทะเลดิบๆ สุกๆ ระวังโรคอาหารเป็นพิษ

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าจากข้อมูลเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557 - 9 มี.ค. 2557 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษสะสม 24,599 ราย จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ 45-54 ปี ร้อยละ 10.44รองลงมา 15-24 ปี ร้อยละ 10.32 และ อายุมากกว่า 65 ปี ร้อยละ 9.64 จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อุดรธานี รองลงมา คือ อำนาจเจริญ หนองบัวลำภู บุรีรัมย์ และขอนแก่น โรคอาหารเป็นพิษเป็นอาการป่วยที่เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อน ได้แก่ ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสหรือพยาธิ ปนเปื้อนสารพิษ สารเคมีหรือโลหะหนัก ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การเก็บรักษา การประกอบอาหารและการบริการอาหาร บางครั้งอาการของอาหารเป็นพิษ อาจเกิดจากการบริโภคสิ่งที่เป็นพิษโดยตรง อย่างเมล็ดสบู่ดำ ลูกโพธิ์ ปลาปักเป้า และคางคก ซึ่งการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษมักพบจากการที่คนจำนวนมากรับประทานอาหารปนเปื้อนร่วมกันและมีอาการอย่างรวดเร็วหลังจากรับประทานอาหารแล้ว

ทั้งนี้อาการของโรคอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่จะถ่ายอุจจาระเป็นน้ำและปวดมวนท้องรุนแรงเฉียบพลัน บางครั้งมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้และปวดศีรษะ บางครั้งมีอาการคล้ายเป็นบิด ถ่ายอุจจาระปนเลือดหรือเป็นมูก ไข้สูง และมีจำนวนเม็ดเลือดขาวสูง เป็นโรคที่ไม่ค่อยรุนแรง มีระยะเวลาดำเนินโรค 1-7 วัน การติดเชื้อในระบบอื่นของร่างกายและการตายพบได้ แต่พบน้อยมาก ระยะฟักตัว ปกติ 6-25 ชั่วโมงหรืออยู่ในช่วง 4-30 ชั่วโมง การติดต่อของโรคมักเกิดจากการกินอาหารทะเลที่ดิบ ปรุงไม่สุกพอหรือกินอาหารอื่นที่มีการปนเปื้อนอาหารทะเลดิบๆ ดิบๆ สุกๆ หรือ ล้างด้วยน้ำทะเลที่ปนเปื้อนเชื้อนี้ อย่างไรก็ตามโรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่คน

"โรคอาหารเป็นพิษ มักป่วยไม่รุนแรง รักษาได้ตามอาการ เช่น อาการปวดท้องและการทดแทนด้วยน้ำและเกลือแร่ ด้วยสารละลายเกลือแร่ และน้ำตาลทางปาก ไม่แนะนำการให้ยาปฏิชีวนะ ประชาชนสามารถป้องกันโรคอาหารเป็นพิษได้ด้วยหลักมาตรการ 10 ข้อ คือ 1. เลือกอาหารที่ผ่านการเตรียมเป็นอย่างดี 2. ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนทั่วถึง 3. ควรกินอาหารที่สุกใหม่ๆ 4. ระมัดระวังอาหารที่ปรุงสุกแล้วอย่าให้มีการปนเปื้อน 5. อาหารที่ค้างมื้อต้องอุ่นให้ร้อนก่อน 6. แยกอาหารดิบและอาหารสุก ให้ระมัดระวังการปนเปื้อน 7. ล้างมือก่อนจับต้องอาหารเข้าสู่ปาก 8. รักษาความสะอาดของห้องครัว อุปกรณ์ประกอบอาหารและรับประทานอาหาร 9. เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู หรือสัตว์อื่นๆ และ 10. ใช้น้ำสะอาด หากมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น เช่น อาเจียนมาก รับประทานอาหารและน้ำไม่ได้ ถ่ายเหลวไม่หยุด มีไข้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ให้รีบมาพบแพทย์ทันที ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร 0-2590 3183 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว