ฟิทช์: ธนาคารรัฐของไทยยังสามารถรองรับผลกระทบจากการไหลออกของเงินฝากได้

19 Feb 2014
ฟิทช์ เรทติ้ง กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่ผู้ฝากเงินได้ถอนเงินฝากกับธนาคารออมสินแสดงให้เห็นว่าปัญหาทางการเมืองอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อระบบธนาคารและการเงินของประเทศไทย ทั้งนี้ฟิทช์เคยกล่าวไว้ว่าความไม่สงบทางการเมืองได้ส่งผลให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ และจะส่งผลต่อเนื่องให้ความเสี่ยงของธนาคารไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น

ปริมาณการถอนเงินฝากออกจากธนาคารออมสินน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่จัดการได้ในขณะนี้ โดยธนาคารรายงานว่าเงินฝากที่ไหลออกสุทธิเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ มีจำนวนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ธนาคารมีฐานเงินฝากรวมอยู่ที่ 1.724 ล้านล้านบาท (ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2556 ) การถอนเงินฝากดังกล่าวเป็นผลมาจากความกังขาของประชาชนหลังจากที่ธนาคารออมสินได้มีการอนุมัติวงเงินจำนวน 2 หมื่นล้านบาท แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เพื่อนำไปสนับสนุนโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล และน่าจะเป็นสาเหตุจากปัจจัยทางการเมือง มากกว่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงจากสถานะทางการเงิน อย่างไรก็ตามธนาคารออมสินได้ประกาศว่าจะยกเลิกวงเงินดังกล่าวแล้ว

ฟิทช์มองว่าด้วยสภาพคล่องของธนาคารออมสินและการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐผ่านธนาคารกลาง (ธนาคารแห่งประเทศไทย) หรือองค์กรรัฐอื่น น่าจะช่วยให้ธนาคารออมสินสามารถเผชิญกับความเสี่ยงในด้านสภาพคล่องได้ในระยะสั้น

นอกจากนี้ การถอนเงินฝากเพิ่มขึ้นจากธนาคารรัฐแห่งอื่น แม้อาจจะไม่เกิดขึ้น แต่ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่สำคัญที่จะส่งผลให้ธนาคารรัฐมีภาระที่จะต้องกู้ยืมเงินระหว่างธนาคารมากขึ้น และอาจรวมไปถึงการกู้ยืมเงินจากธนาคารกลาง

ณ ขณะนี้ ฟิทช์เชื่อว่าในระยะสั้นภาครัฐน่าจะสามารถป้องกันและบริหารจัดการความท้าทายในด้านสภาพคล่องของธนาคารรัฐได้ อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของระบบธนาคารและการเงินยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังคงไม่มีความชัดเจนว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจะสิ้นสุดลงเมื่อไร อีกทั้งการหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนโครงการจำนำข้างของรัฐบาลก็ ยังคงมีความไม่แน่นอน

ทั้งธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. เป็นธนาคารที่จัดตั้งขึ้นโดยมีพระราชบัญญัติเฉพาะรองรับ และน่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในระดับที่สูง ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. มีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านขนาดสินทรัพย์ที่ 10.6% และ 6.1% ของระบบธนาคาร ตามลำดับ (ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556) และความมั่นคงทางการเงินของธนาคารทั้งสองแห่งมีความสำคัญต่อความมั่นใจโดยรวมต่อระบบธนาคารและการเงินของประเทศไทย