มูลนิธิไร้ท์ ทู เพลย์ ประเทศไทย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาการประเมินทักษะชีวิตของผู้เรียนในประเทศไทย

02 Apr 2014
มูลนิธิไร้ท์ ทู เพลย์ ประเทศไทยในฐานะผู้นำในการใช้กีฬาและกิจกรรมการเล่น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะชีวิตให้กับเด็กๆในประเทศไทย ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการประเมินทักษะชีวิตของผู้เรียนณ โรงแรมโฟร์วิง กรุงเทพฯโดยการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการประเมินทักษะชีวิตของผู้เรียนในครั้งนี้ มูลนิธิไร้ท์ ทู เพลย์ ประเทศไทยต้องการที่จะยกระดับการประเมินหลักสูตรพัฒนาทักษะชีวิตสำหรับเด็กไทย อีกทั้งยังเป็นการหาข้อคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการวัดและประเมินผลจากกระทรวงศึกษาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และ สมาพันธ์ครูประถมศึกษาแห่งออนตาริโอ ประเทศแคนาดาอีกด้วย
มูลนิธิไร้ท์ ทู เพลย์ ประเทศไทย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาการประเมินทักษะชีวิตของผู้เรียนในประเทศไทย

มูลนิธิไร้ท์ ทู เพลย์ ประเทศไทยได้ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)กระทรวงศึกษาธิการ ในการพัฒนา และดำเนินงานหลักสูตรการพัฒนาทักษะชีวิตมาเป็นระยะเวลายาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549โดยมีวิธีการเรียนรู้สำคัญของ ไร้ท์ ทู เพลย์ คือการใช้วิธีเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่เรียกว่า กระบวนการอาร์ซีเอ คือการสะท้อน เชื่อมโยง และปรับใช้ โดย สพฐ. ยอมรับและบรรจุกระบวนการอาร์ซีเอดังกล่าวไว้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย

การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการประเมินทักษะชีวิตของผู้เรียนในครั้งนี้ เราได้รับความร่วมมือจากแขกผู้มีเกียรติหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรจากสมาพันธ์ครูประถมศึกษาแห่งออนตาริโอ ประเทศแคนาดานักวิชาการจากกระทรวงศึกษาธิการ ตัวแทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และคุณครูจากทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย

คุณอุบลวรรณ แสนมหายักษ์ ข้าราชการบำนาญผู้เชี่ยวชาญทางด้านการศึกษาและทีมงานเป็นผู้ดำเนินรายการหลักในการประชุมครั้งนี้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการวัดและประเมินผลคอยให้คำแนะนำและความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ คือนายธัญญา เรืองแก้ว ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาและส่งเสริมการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ นายประชา อ่อนรักษานักวิชาการศึกษาชำนาญการดร.สายพันธุ์ศรีพงษ์พันธุ์กุลนักวิชาการชำนาญการพิเศษศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียนดร. เจเน็ท มิลเลอร์ แกรนท์ผู้บริหารจากสมาพันธ์ครูประถมศึกษาแห่งออนตาริโอ้ประเทศแคนาดารวมถึงศึกษานิเทศน์ ผู้อำนวยการ และคุณครูจากโรงเรียนอีกด้วยโดยในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่การร่วมแสดงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่จะปรับปรุงและพัฒนา “เครื่องมือการประเมินทักษะชีวิต” ให้มีประสิทธิภาพและง่ายต่อการใช้สำหรับคุณครู เพื่อนำไปใช้ทดลองกับนักเรียนในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการต่อไป

ในปัจจุบัน มูลนิธิ ไร้ท์ ทู เพลย์ ประเทศไทยดำเนินโครงการพัฒนาทักษะชีวิต ในโรงเรียน 41 แห่ง ในจังหวัดตรัง สตูล สงขลา ภูเก็ต กรุงเทพฯ และนครสวรรค์อีกทั้งดำเนินงานร่วมกับบุคลากรครูมากกว่า 400 คน และนักเรียนกว่า 10,000 คนผ่านกิจกรรมในชั้นเรียนปกติและกิจกรรมพิเศษรายสัปดาห์ เพื่อพัฒนาคุณภาพของการศึกษาผ่านการเสริมสร้างทักษะชีวิตที่สำคัญในด้านต่างๆ