สช. จับมือ สปสช. ใช้กองทุนสุขภาพตำบล ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาธรรมนูญสุขภาพเฉพาะพื้นที่

27 Mar 2014
สช.สานพลังความร่วมมือ ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพเฉพาะพื้นที่ ก้าวสู่ตำบลสุขภาวะต้นแบบ พร้อมจับมือ สปสช. หนุนให้คณะกรรมการกองทุนฯ ใช้เงินกองทุนตำบล กระตุ้นสู่การพัฒนาที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนด ทั้งนี้ได้เริ่มดำเนินการในพื้นที่ อปท. ๑๐๙ แห่ง ในภาคอีสานตอนบน เชื่อเป็นจุดเริ่มต้นการปฏิรูปประเทศไทย และการพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของชุมชน ต่อไป

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) เปิดเผยว่า สช.ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต ๘ อุดรธานี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน ๑๐๙ แห่ง ในการดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาธรรมนูญสุขภาพเฉพาะพื้นที่ ไปสู่ การจัดการระบบสุขภาพได้ด้วยชุมชนเอง โดยมีงบประมาณจาก “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” หรือที่เรียกว่า “กองทุนสุขภาพตำบล” ซึ่ง สปสช. จัดสรรให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล ในการดูแลสุขภาพ เป็นกลไกร่วมผลักดันธรรมนูญ ไปสู่การปฏิบัติในระดับครัวเรือนและชุมชนต่อไป

นพ.อำพล กล่าวว่า ธรรมนูญสุขภาพ จะเป็นกติกาหรือแนวทางสร้างสุขภาวะ ที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วม และสะท้อนความต้องการของประชาชนในพื้นที่นั้นอย่างแท้จริง ปัจจุบันหลายชุมชนได้นำกลไกธรรมนูญสุขภาพไปใช้ จนประสบความสำเร็จ ช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพทั้งกายและใจที่ดีขึ้น เช่น ชุมชนตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ถือเป็นชุมชนแห่งแรกที่ยกร่างธรรมนูญสุขภาพ ในการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกัน การควบคุมโรค เป็นต้น พร้อมทั้งประสานการทำงานผ่านภาคีเครือข่าย ปัจจุบันตำบลชะแล้ ได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบของธรรมนูญสุขภาพที่ดีแก่ท้องถิ่นอื่นๆ นำไปปฏิบัติต่อไป

"ธรรมนูญสุขภาพ จะเป็นแบบฝึกหัดประชาธิปไตยที่ดี เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมให้ประชาชนสามารถทำงานร่วมกับนโยบายการกระจายอำนาจอื่นๆได้ง่ายขึ้น และยังเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการปฏิรูปประเทศไทย ที่ยึดการบริการจัดการตนเอง ขณะที่หน่วยงานของการรัฐเป็นเพียงหน่วยงานเชื่อมประสาน อำนวยความสะดวกให้การปฏิบัติประสบความสำเร็จเท่านั้น"

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 8 อุดรธานี กล่าวว่า สปสช.พร้อมที่จะสนับสนุนการสร้าง ธรรมนูญสุขภาพระดับท้องถิ่น โดยสมทบเงินกองทุนตำบล เพื่อขับเคลื่อนสุขภาวะให้แบบรายหัว อัตรารายละ ๔๕ บาท เช่นถ้าชุมชนนั้นมีประชากร ๑๐,๐๐๐ คน สปสช.ก็จะสบทบเงิน ๔๕๐,๐๐๐ บาท เป็นต้น

สำหรับใน ปี ๒๕๕๗ นี้ สปสช. เขต ๘ อุดรธานี ได้ร่วมกับ สช. สนับสนุนการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพตำบลและพัฒนาตำบลจัดการสุขภาพต้นแบบใน ๗ จังหวัดอีสานตอนบน ครอบคลุม ๑๐๙ ตำบล ได้แก่ จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย สกลนคร นครพนม และบึงกาฬ

“กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น จะเป็นแกนหลักร่วมกับคนในชุมชน ขับเคลื่อนธรรมนูญตำบลให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ถือเป็นแนวทางที่เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งสปสช. เข้าไปจัดการเอง แต่อาจจะไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ดังนั้นการมีธรรมนูญสุขภาพ จึงเปิดโอกาสประชาชนได้มีส่วนร่วมการขับเคลื่อนสุขภาวะ เป็นผู้กำหนดทิศทาง กลไก มาตรการด้านสุขภาพของตนเอง และจะได้รับประโยชน์โดยตรง”

ด้าน นายอำนวย อินทรธิราช นายกอบต. นาพู่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณ สช.และกองทุนหลักประกันสุขภาพ ที่ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินการพัฒนาธรรมนูญสุขภาพของท้องถิ่น ทำให้ประชาชนมีสุขภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รู้จักป้องกันตัวเอง มีกิจกรรมต่างๆ ช่วยสร้างเสริมให้สุขภาวะชุมชนดีขึ้น โดยทาง ต.นาพู่ ถือเป็นชุมชนแรกในประเทศไทย ที่เลี้ยงไก่ไข่ไอโอดีน และถือเป็นชุมชนแรกที่กล้าประกาศว่าประชาชนปลอดโรคขาดไอโอดีน

“อปท.จะมีบทบาทหลักในการสร้างสุขภาพ ขณะที่สช.มีเครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะ ซึ่ง ธรรมนูญสุขภาพ จะช่วยให้เกิดผลลัพท์ที่ทุกคนต้องการ นั่นคือ ตำบลจัดการสุขภาพต้นแบบ เป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่”