สถาบันอาหารแนะยกระดับอาหารไทยติดตราฮาลาลสู้ตลาดโลก

19 Dec 2013
สถาบันอาหาร เปิดตัวเว็บไซต์ www.thehalalfood.info ในรูปแบบ 2 ภาษา เป็นแหล่งรวมฐานข้อมูลทางการค้า กฎระเบียบ ทั้งของไทยและต่างประเทศหนุนพัฒนาอาหารฮาลาลไทย เชื่อต้องติดอาวุธให้ผู้ประกอบการไทย รู้เขา รู้เรา หวังส่งเสริมการส่งออกสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยตราฮาลาล ชี้ตลาดฮาลาลโลกยังเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 7.4 ต่อปี ทวีปเอเชียครองแชมป์ด้วยมูลค่าตลาดราว 657 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือมีสัดส่วนร้อยละ 67.4 ของมูลค่าตลาดอาหารฮาลาลโลกราว 976 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนไทยส่งออกอาหารฮาลาลช่วง 5 ปีล่าสุด(2551-2555) มีมูลค่าเฉลี่ย 5,688 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3.5 เท่าตัวตลอดช่วง 15 ปี โดยปี 2554 ส่งออกสูงสุดมูลค่ากว่า 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เฉพาะไก่สดแช่แข็งเติบโตสูงกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนไก่สดแปรรูปมีแนวโน้มดี ร้อยละ 80 ส่งออกสินค้าภาคเกษตรที่ไม่ขัดหลักศาสนา เช่น ข้าว น้ำตาลทราย ทูน่ากระป๋อง แป้งมันสำปะหลัง และผลไม้สด แนะควรเร่งยกระดับมาตรฐานสินค้าอาหารเพื่อการส่งออกผ่านกระบวนการรับรองฮาลาลเพื่อเพิ่มมูลค่า

นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าขณะนี้สถาบันอาหารได้จัดทำเว็บไซต์ Error! Hyperlink reference not valid.ในรูปแบบ 2 ภาษา(ไทย-อังกฤษ) ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เป็นฐานข้อมูลสนับสนุนการพัฒนาฮาลาลไทยเพื่อส่งเสริมการส่งออก โดยเผยแพร่เนื้อหาที่ให้ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมฮาลาลไทยและประเทศต่างๆทั่วโลก รวมถึงข้อมูลด้านมาตรฐานฮาลาล ข้อปฏิบัติและขั้นตอนการขอรับรองฮาลาล สถิติการค้า ตลอดจนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทางการค้าและความเคลื่อนไหวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ รายชื่อผู้นำเข้าอาหารในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมและสืบค้นข้อมูลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังขอเชิญชวนบริษัทที่สนใจจะประชาสัมพันธ์สินค้าอาหารฮาลาลในเว็บไซต์ดังกล่าว โดยจัดส่งข้อมูลรายละเอียดสินค้า หมายเลขทะเบียนฮาลาล ชื่อบริษัท ที่อยู่ เว็บไซต์ รูปประกอบ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พร้อมกรอกข้อมูลในแบบสำรวจ ทางสถาบันอาหารจะนำขึ้นเผยแพร่ทางเว็บไซต์เพื่อเป็นสื่อกลางในการเจรจาธุรกิจต่อไป นายเพ็ชร กล่าวถึงความจำเป็นในการเร่งส่งเสริมผู้ประกอบการอาหารของไทยให้มีความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลโลกว่า เนื่องจากประชากรมุสลิมที่มีจำนวนมากเกือบ 2,000 ล้านคน หรือร้อยละ 28 ของประชากรโลก ทำให้ตลาดอาหารสำหรับผู้บริโภคชาวมุสลิมเป็นตลาดที่ใหญ่มากที่สุดตลาดหนึ่งของโลก

“มูลค่าตลาดอาหารฮาลาลโลกอย่างคร่าวๆ ซึ่งจะรวมทั้งตลาดสินค้าและบริการร้านอาหาร (Food service)ด้วย พบว่ามีมูลค่าประมาณ 976 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 16.8 ของมูลค่าตลาดอาหารโลกที่คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 5.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรมุสลิมต่อประชากรโลกที่มีถึงร้อยละ 28 จะเห็นได้ว่า ขนาดตลาดอาหารฮาลาลโลกมีสัดส่วนที่น้อยกว่า แสดงว่าตลาดอาหารดังกล่าวยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก”

สำหรับสถานการณ์ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ตลอดอาหารฮาลาลโลกเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.4 ต่อปี สูงกว่าอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารโดยรวมในกลุ่มอื่นๆ ที่มิใช่ฮาลาลที่เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.7 ต่อปีเท่านั้น สำหรับตลาดอาหารฮาลาลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ในกลุ่มประเทศในทวีปเอเชีย โดยมีมูลค่าตลาดประมาณ 657 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 67.4 ของมูลค่าตลาดอาหารฮาลาลโลก รองลงมาได้แก่ ทวีปแอฟริกา ยุโรป อเมริกาเหนือ ลาตินอเมริกา และโอเชียเนีย มีสัดส่วนร้อยละ 18.8, 12.1, 1.8, 0.3 และ 0.2 ตามลำดับนายเพ็ชร กล่าวว่า สำหรับการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา(2551-2555) ไทยสามารถส่งออกอาหารไปยังประเทศมุสลิมมากขึ้น ก็ยังมิอาจระบุตัวเลขที่แน่ชัดได้เช่นกัน แต่หากใช้ข้อมูลการส่งออกสินค้าอาหารไปยังกลุ่มองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation: OIC3) เป็นตัวแทนตลาดส่งออกอาหารฮาลาลไทย จะพบว่า การส่งออกอาหารฮาลาลไทยมีมูลค่าเฉลี่ย 5,688 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากมูลค่าส่งออกเฉลี่ย 2,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปี 2546-2550 และมูลค่าส่งออกเฉลี่ย 1,620 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปี 2541-2545 หรือเพิ่มขึ้น 3.5 เท่าตัวตลอดช่วง 15 ปี โดยมีมูลค่าส่งออกสูงที่สุดในปี 2554 กว่า 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับการส่งออกอาหารโดยรวมจะพบว่า สัดส่วนส่งออกอาหารฮาลาลไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 16.2 ในช่วงปี 2541-2545 เป็นร้อยละ 18.0 ในช่วงปี 2546-2550 และสูงสุดร้อยละ 21.3 ในช่วง 5 ปีล่าสุด โดยตลาดส่งออกอาหารฮาลาลของไทยกระจายอยู่ใน 3 กลุ่มประเทศหลักๆ ได้แก่ แอฟริกา มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 37.7 ตะวันออกลาง มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 24.8 และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 33.6 ที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 4 คือ ตลาดในเอเชียใต้ ยุโรปใต้ และเอเชียกลาง

สินค้าอาหารฮาลาลส่งออกหลักของไทยราวร้อยละ 80 เป็นอาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ ซึ่งโดยปกติไม่ต้องผ่านกระบวนการรับรองฮาลาลหรือติดเครื่องหมายรับรองฮาลาล ผู้บริโภคมุสลิมส่วนใหญ่ก็สามารถเลือกบริโภคได้โดยไม่ขัดหลักศาสนา มากกว่าร้อยละ 50 คือ ข้าว รองลงมา ได้แก่ น้ำตาลทราย ทูน่ากระป๋อง แป้งมันสำปะหลัง และผลไม้สด (ลำไยสด ทุเรียน เงาะ มังคุด) โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ10-20 ต่อปี ยกเว้นการส่งออกไก่ที่ขยายตัวสูงกว่า 100% ล่าสุดในปี 2555 การส่งออกไก่สดแช่แข็งของไทยไปยังกลุ่มประเทศมุสลิมมีปริมาณกว่า 20,600 ตัน เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปีก่อนหน้า ขณะที่การส่งออกไก่สุกแปรรูปก็มีแนวโน้มดีแม้จะมีปริมาณส่งออกเพียง 2,351 ตันในปีที่ผ่านมา โดยร้อยละ 90 ส่งออกไปประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 8 ส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย

“อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก เพราะตลาดอาหารฮาลาลโลกยังคงเปิดกว้างทั้งในประเทศมุสลิมและประเทศนอกกลุ่มมุสลิมที่มีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่ โดยศักยภาพการผลิตอาหารของไทยอยู่ในระดับแถวหน้าของโลก เห็นได้จากการที่สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพส่งออกไปยังประเทศพัฒนาที่มีมาตรฐานสินค้าที่สูงทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น นับเป็นจุดแข็งของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทย ประกอบกับประเทศไทยมีองค์กรศาสนาที่ดูแลกิจการฮาลาลของประเทศโดยตรง จึงเกิดเอกภาพทำให้อาหารฮาลาลของไทยเป็นสินค้าที่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค ทุกภาคส่วนจึงควรหาแนวทางส่งเสริมให้ภาคการส่งออกหันมาให้ความสำคัญกับการติดเครื่องหมายรับรองฮาลาลโดยผ่านกระบวนการรับรองที่ถูกต้องเป็นมาตรฐานสากล โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งอาจประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาในตลาดโลกได้ รวมทั้งยังอาจขาดความรู้ ความเข้าใจ และต้องเผชิญกับเงื่อนไขการกีดกันทางการค้า” นายเพ็ชร กล่าว