ตลาดพื้นค้าปลีก ณ ครึ่งหลังปีพ.ศ.2556

03 Feb 2014
ในปีพ.ศ.2556 ตลาดพื้นที่ค้าปลีกมีการขยายตัวที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงหลายปีที่ผ่านมา อ้างอิงจากรายงานวิจัยตลาดพื้นที่ค้าปลีกฉบับล่าสุดของคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย คอมมูนิตี้มอลล์ยังคงขยายตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2550 และ ณ สิ้นปีพ.ศ.2556 มีพื้นที่รวมมากกว่าซูเปอร์สโตร์มอลล์

ในไตรมาสสุดท้ายของปีพ.ศ.2556 มีพื้นที่ค้าปลีกประมาณ 96,800 ตารางเมตรที่สร้างเสร็จและเปิดให้บริการและตลอดทั้งปีพ.ศ.2556 มีพื้นที่ค้าปลีกประมาณ 152,800 ตารางเมตรที่สร้างเสร็จและเปิดให้บริการในขณะที่อีกประมาณ 781,000 ตารางเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2557

นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า”คอมมูนิตี้มอลล์ยังคงเป็นรูปแบบพื้นที่ค้าปลีกที่มีการพัฒนามากที่สุดในตลาดพื้นที่ค้าปลีกกรุงเทพมหานคร เพราะว่าโครงการพื้นที่ค้าปลีกส่วนใหญ่ที่สร้างเสร็จในปีพ.ศ.2556 หรือประมาณ 101,900 ตารางเมตร คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของโครงการพื้นที่ค้าปลีกทั้งหมดที่สร้างเสร็จในปีพ.ศ.2556 โครงการคอมมูนิตี้มอลล์ส่วนใหญ่ที่สร้างเสร็จในปีพ.ศ.2556 จะตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครรอบนอก โดยเฉพาะทางทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร”

“คอมมูนิตี้มอลล์ ขยายตัวจนมีสัดส่วนเป็นอันดับที่สองในตลาดพื้นที่ค้าปลีกกรุงเทพมหานคร ณ สิ้นปีพ.ศ.2556เนื่องจากว่ามีโครงการใหม่ๆ จำนวนมากสร้างเสร็จ และเปิดให้บริการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่ในมีซูเปอร์สโตร์เปิดใหม่เลยในช่วงที่ผ่านมา ศูนย์การค้ายังคงมีสัดส่วนในตลาดพื้นที่ค้าปลีกมากที่สุด และพื้นที่ส่วนใหญ่ของโครงการในอนาคตที่อยู่ระหว่างก่อสร้างก็คือศูนย์การค้า” นายสุรเชษฐ กล่าว

ศูนย์การค้าหลายโครงการมีกำหนดแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2557 โดยที่บางโครงการเลื่อนกำหนดแล้วเสร็จมาจากปีพ.ศ.2556 เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานอุปทานที่มีกำหนดแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2557 อยู่ที่ประมาณ 779,000 ตารางเมตร โยที่ประมาณ 474,800 ตารางเมตรเป็นศูนย์การค้า และอีกประมาณ 264,200 ตารางเมตรเป็นคอมมูนิตี้มอลล์

ศูนย์การค้าส่วนใหญ่ที่มีกำหนดแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2557 จะตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมือง และพื้นที่รอบใจกลางเมือง ในขณะที่ประมาณ 69% ของคอมมูนิตี้มอลล์ที่มีกำหนดแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2557 จะตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครรอบนอก

อัตราการเช่าในทุกพื้นที่ ณ ไตรมาสที่ 4 พ.ศ.2556 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 3 นายสุรเชษฐ ยังอธิบายเพิ่มเติมต่อว่า “อัตราการเช่าเฉลี่ยในทุกทำเลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีโครงการพื้นที่ค้าปลีกจำนวนมากที่สร้างเสร็จ และเข้าสู่ตลาด แต่มีแบรนด์สินค้าต่างประเทศเปิดร้านในศูนย์การค้า และทำให้อัตราการเช่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ใจกลางเมือง”

อัตราค่าเช่าในปีพ.ศ.2556 ยังคงใกล้เคียงกับปีก่อนหน้านี้ แต่ว่าในปีพ.ศ.2557 ค่าเช่าน่าจะปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 5 – 10% ขึ้นกับทำเลที่ตั้งของโครงการ ในขณะที่อัตราการเช่าก็จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน “เพราะว่าตั้งแต่ปีพ.ศ.2555 เป็นต้นมา มีร้านจากต่างประเทศ และของไทย รวมทั้งร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ ที่ต้องการขยายพื้นที่ หรือเปิดร้านใหม่ในโครงการพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพมหานคร และพื้นที่โดยรอบ และน่าจะยังคงมีการขยายตัวต่อเนื่องไปอีกในช่วงปีพ.ศ.2556 – 2558 ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย” นายสุรเชษฐ กล่าวเพิ่มเติม

“ปัญหาการเมืองในประเทศไทยจะยังคงเป็นที่วิตกกังวลของนักลงทุน นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และต่างประเทศ ในปีพ.ศ.2557 นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากยกเลิกโรงแรมที่จองไว้ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมือง คนไทยก็ใช้จ่ายน้อยลงต่อเนื่องในปีพ.ศ.2556 เพราะว่าค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทยในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อ และไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน” เขากล่าวสรุป