ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานคร ณ ไตรมาสที่ 3 พ.ศ.2558 คอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในช่วงระหว่าง 1Q 2557 – 3Q 2558 รายไตรมาส

30 Oct 2015
ที่มา: ฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

คอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากตลาดชะลอตัว และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงไม่มั่นใจในตลาดจึงชะลอการเปิดขายโครงการใหม่ไปไตรมาสที่ 4 พ.ศ.2558 หรือว่าปีหน้า ลุ้นผลกระทบจากมาตรการกระตุ้นการโอนกรรมสิทธิ์

นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในไตรมาสที่ 3 พ.ศ.2558 มีคอนโดมิเนียมประมาณ 6,810 ยูนิตเท่านั้นที่เปิดขาย และน้อยกว่าไตรมาสที่ 2 ประมาณ 40% นอกจากนี้ผู้ประกอบการหลายรายยังคงกังวลต่อการโอนกรรมสิทธิ์ของยูนิตที่สร้างเสร็จแล้วและมียูนิตที่มีกำหนดจะแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2558 เพราะว่าจำนวนของยูนิตที่โอนกรรมสิทธิ์ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – กรกฎาคม พ.ศ.2558 ลดลงและยังน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีพ.ศ.2557 เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว การเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร และการไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ของพวกที่ซื้อเก็งกำไร ซึ่งรัฐบาลเองก็ตระหนักถึงปัญหาตรงนี้ และต้องการผลักดันให้เกิดการโอนกรรมสิทธิ์รวมทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัวจึงออกมาตรการมาช่วยกระตุ้นการโอนกรรมสิทธิ์โดย ดังนี้

การลดการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอน และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ และห้องชุดเหลือร้อยละ 0.01 เป็นเวลา 6 เดือน ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ให้สินเชื่อแก่ผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทในการซื้อบ้าน คอนโดมิเนียมในวงเงินรวมเบื้องต้น 10,000 ล้านบาท

การการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับรายได้ที่จ่ายไปเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาทเป็นจำนวนร้อยละ 20 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ แต่ต้องเป็นการซื้อครั้งแรกและเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยจริง โดยต้องใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อเนื่องกัน 5 ปีภาษี นับแต่ปีที่มีการจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ ต้องจ่ายค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์และโอนกรรมสิทธิ์ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2559

ซึ่งมาตรการที่ออกมานี้ถือได้ว่าช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้ค่อนข้างมาก เพราะในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าจะมีคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จเป็นจำนวนมากทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์หรือไม่ยอมโอนกรรสิทธิ์ รวมทั้งในส่วนของตลาดบ้านจัดสรรด้วย"

นอกจากนี้นายสุรเชษฐ ยังได้กล่าวถึงคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมาว่า "ประมาณ 41% ของคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในไตรมาสที่ 3 พ.ศ.2558 อยู่ในพื้นที่กรงเทพมหานครรอบนอก หรือว่านอกพื้นที่ให้บริการของระบบรถไฟฟ้า/ใต้ดินในปัจจุบัน คอนโดมิเนียมมากกว่า 2,600 ยูนิตเปิดขายในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังการก่อสร้าง เช่น พื้นที่ตามแนวถนนกรุงเทพ – นนทบุรี, ประชาราษฎร์สาย 2 และพหลโยธิน" อัตราการขายเฉลี่ยของคอนโดมิเนียมใหม่ที่เปิดขายในไตรมาสที่ 3 พ.ศ.2558 อยู่ที่ประมาณ 50% เท่านั้น

"อัตราการขายเฉลี่ยของคอนโดมิเนียมทั้งกรุงเทพมหานครอยู่ที่ประมาณ 78% และมีคอนโดมิเนียมอีกประมาณ 30,000 ยูนิตที่รอการขายอยู่ในตลาดโดยที่ประมาณ 48% ของคอนโดมิเนียมที่ยังขายไม่ได้นี้มีราคาขายอยู่ในช่วงระหว่าง 50,001 – 100,000 บาทต่อตารางเมตร โครงการคอนโดมิเนียมที่มีราคาขายมากกว่า 200,000 บาทต่อตารางเมตรมีอัตราการขายต่ำกว่าคอนโดมิเนียมระดับราคาอื่นๆ ค่อนข้างมาก เพราะว่าผู้ซื้อส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครไม่สามารถซื้อคอนโดมิเนียมในระดับราคานี้ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่เปิดขายคอนโดมิเนียมที่มีราคาขายมากกว่า 200,000 บาทต่อตารางเมตรจะไปโรดโชว์โครงการในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในสิงคโปร์ ฮ่องกง และจีน เพราะว่าพวกเขาต้องการเพื่อสัดส่วนของผู้ซื้อชาวต่างชาติให้มากขึ้นเพื่อทดแทนผู้ซื้อชาวไทย" นายสุรเชษฐ กล่าวเพิ่มเติม

ที่มา: ฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

หมายเหตุ: เฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดขายในไตรมาสนั้นๆ เท่านั้น

ราคาขายเฉลี่ยของคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในไตรมาสที่ 3 พ.ศ.2558 อยู่ที่ประมาณ 97,500 บาทต่อตารางเมตรลดลงประมาณ 11% จากไตรมาสก่อนหน้านี้ เพราะว่ามีโครงการระดับ Luxury เปิดขายในไตรมาสที่ 3 พ.ศ.2558 ลดลง

คอนโดมิเนียมส่วนใหญ่หรือประมาณ 81% ของยูนิตที่เปิดขายในไตรมาสที่ 3 พ.ศ.2558 มีราคาขายระหว่าง 50,000 – 100,000 บาทต่อตารางเมตร และอีกประมาณ 5% หรือ 350 ยูนิตมีราคาขายมากกว่า 200,000 บาทต่อตารางเมตร แม้ว่าจะมีโครงการคอนโดมิเนียมระดับ Luxury หลายโครงการที่มีราคาขายมากกว่า 200,000 บาทต่อตารางเมตรเปิดขายในช่วง 3 – 4 ไตรมาสที่ผ่านมา และมีอัตราการขายที่สูง แต่ว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงไม่มั่นใจในกำลังซื้อในโครงการระดับ Luxury ดังนั้น โครงการระดับ Luxury นี้จึงเปิดขายลดลงในไตรมาสที่ผ่านมา

"หลังจากที่ผ่านมา 9 เดือนของปีนี้และกำลังซื้อในตลาดคอนโดมิเนียมยังคงไม่มาก ผู้ประกอบการหลายรายปรับแผนการลงทุนและเพิ่มสัดส่วนของโครงการบ้านจัดสรรมากขึ้น และมีผู้ประกอบการหลายรายที่ชะลอการเปิดขายโครงการใหม่ออกไปก่อน แต่ก็มีบางรายที่ยังคงมีแผนจะเปิดขายโครงการใหม่ในไตรมาสที่ 4 ซึ่งจากปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและผู้บริโภคนี้จึงคาดว่าทั้งปีพ.ศ.2558 อาจจะมีคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่น้อยกว่า 40,000 ยูนิตซึ่งน้อยที่สุดในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา" นายสุรเชษฐ กล่าวสรุป