10 องค์กรไทยคุณภาพ จากภาคการผลิต ภาคบริการและสาธารณสุข คว้า“รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (TQC)” ประจำปี 2556

05 Feb 2014
สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในฐานะสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประกาศรายชื่อ 10 องค์กรไทยคุณภาพ ครอบคลุมภาคการผลิต ภาคบริการและสาธารณสุข ที่สามารถคว้ารางวัล “การบริหารสู่ความเป็นเลิศ หรือ Thailand Quality Class (TQC)” ประจำปี 2556 ยืนยันความเป็นเลิศในการบริหารจัดการองค์กรที่ทัดเทียมระดับมาตรฐานสากล โดยในปีนี้ไม่มีองค์กรใดก้าวผ่านเกณฑ์และสามารถพิชิต “รางวัลคุณภาพแห่งชาติ” (Thailand Quality Award-TQA) ได้สำเร็จ
10 องค์กรไทยคุณภาพ จากภาคการผลิต ภาคบริการและสาธารณสุข คว้า“รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (TQC)” ประจำปี 2556

นายสมภพ อมาตยกุล ประธานคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การพิจารณาให้รางวัลคุณภาพแห่งชาติ และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ ได้ดำเนินการมาครบรอบ 12 ปี แล้วในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งผลการตรวจประเมินองค์กรที่สมัครขอรับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) ประจำปี 2556 มีองค์กรที่ได้รับรางวัล ดังต่อไปนี้

รางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือ Thailand Quality Award (TQA) ซึ่งต้องได้รับคะแนนการตรวจประเมินสูงกว่า 650 คะแนนขึ้นไป ยังไม่มีองค์กรใดผ่านเกณฑ์การตรวจประเมิน

รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ หรือ Thailand Quality Class (TQC) ซึ่งต้องได้รับคะแนนการตรวจประเมินสูงกว่า 350 คะแนน มีจำนวน 10 องค์กร ได้แก่

  • บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด
  • บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท ปตท.สผ. สยาม จำกัด
  • บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ โลจิสติกส์ จำกัด
  • โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกโพลีโพรพิลีน บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)
  • โรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำ หนองแค - บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
  • โรงงานอาหารแปรรูปสัตว์น้ำระโนด - บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
  • โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  • โรงไฟฟ้าแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
  • สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

ประธานคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าวต่อว่า “ในนามของคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ผมขอแสดงความยินดีกับองค์กรที่ได้รับรางวัลในปีนี้ รางวัลคุณภาพแห่งชาติเป็นรางวัลระดับชาติที่ผู้บริหารหรือองค์กรต่างๆให้ความสนใจและเข้ามามีบทบาทสนับสนุน ด้วยความหวังว่ารางวัลนี้จะเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญในการกระตุ้นให้องค์กรหรือธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นด้วยการยกระดับการบริหารจัดการสู่ระดับสากล สำหรับทั้ง 10 องค์กร ที่ได้รับรางวัล TQC ในปีนี้นับว่าเป็นองค์กรที่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิผล มีการเรียนรู้และปรับปรุงการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม องค์กรที่สมัครขอรับรางวัล ไม่ว่าจะได้รับรางวัลหรือไม่ ทุกองค์กรจะได้รับรายงานป้อนกลับ (Feedback Report) ซึ่งระบุจุดแข็งและโอกาสในการปรับปรุงมาใช้ในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถขององค์กร ซึ่งนับเป็นประโยชน์ต่อการนำไปวางแผนปรับปรุงองค์กรให้สมบูรณ์มากขึ้น เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรระดับมาตรฐานสากล คือ ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือ TQA ในอนาคตได้”

ดร.วีรชัย กู้ประเสริฐ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติและกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าวว่า “ปัจจุบันมีองค์กรที่สนใจสมัครขอรับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ เพื่อนำผลการตรวจประเมินไปปรับปรุงภายในองค์กรเพิ่มมากขึ้นทุกปี สำหรับในปี พ.ศ. 2556 มีองค์กรสมัครขอรับรางวัลจำนวน 30 องค์กร โดยมีองค์กรภาคบริการสมัครมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 36.7 รองลงมาเป็นภาคการผลิต ร้อยละ 30 ภาคการบริการสุขภาพ ร้อยละ 16.7 และภาคการศึกษา ร้อยละ 16.7 ในรอบปีที่ผ่านมา สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติได้มีการส่งเสริมและผลักดันให้ภาคส่วนต่างๆ นำเกณฑ์ TQA ไปประยุกต์ใช้ อาทิ รางวัลสุดยอด SMEs สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs และรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นด้านการเพิ่มผลผลิต สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นบันไดอีกขั้นหนึ่งในการเตรียมพร้อมไปสู่รางวัลคุณภาพแห่งชาติ นับได้ว่าเป็นอีกปีหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ ความสำเร็จดังกล่าวเป็นการสั่งสมมาจากการดำเนินงานในการเผยแพร่เกณฑ์ TQA และส่งเสริมให้เกิดการนำไปปฏิบัติผ่านกิจกรรมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับปี พ.ศ. 2557 รางวัลคุณภาพแห่งชาติจะครบรอบ 13 ปี กิจกรรมที่ส่งเสริม เผยแพร่ให้องค์กรต่างๆ นำเกณฑ์เพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศไปใช้เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยจะใช้เกณฑ์ Baldrige ที่ได้มีการปรับปรุงใหม่ (ประจำปี 2556-2557) ซึ่งเกณฑ์จะให้ความสำคัญกับจริยธรรมและการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Ethics and Governance) รวมถึงการเตรียมความพร้อมในกรณีฉุกเฉิน (Emergency preparedness) ซึ่งจะมีการปรับใช้ในทุกหมวด เพื่อให้องค์กรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันขององค์กร และระดับประเทศให้ก้าวล้ำไปสู่ระดับมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับประเด็นการใส่ใจสิ่งแวดล้อม อันนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”