หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภัยเงียบที่ร้ายแรง

04 Feb 2014
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยมีอาการเหล่านี้ วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่นบริเวณหน้าอก หายใจขัด เจ็บแน่นบริเวณหน้าอก เป็นลมหมดสติ นั่นเป็นสัญญาณที่บอกว่าคุณควรพบแพทย์ เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นอาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภัยเงียบที่ร้ายแรง

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นภาวะที่หัวใจเต้นไม่เป็นไปตามจังหวะธรรมชาติ โดยอาจเต้นเร็วหรือช้าเกินไป ซึ่งเป็นผลมาจากกระแสไฟฟ้าในหัวใจเปลี่ยนไป อาจส่งสัญญาณเร็วเกินไป มากเกินไป หรือในบางครั้งเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีผลให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวซึ่งเป็นอันตรายได้โดยธรรมชาติของคนเรา จังหวะการเต้นของหัวใจจะถูกกำหนดโดยสัญญาณไฟฟ้าที่ส่งมาจากเนื้อเยื่อบริเวณหัวใจห้องบนขวา และส่งต่อไปยังห้องหัวใจที่เหลือ และไปยังหัวใจห้องล่างเพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ซึ่งกลไกการเต้นของหัวใจนี้จะถูกควบคุมโดยกระแสไฟฟ้าหัวใจที่มีแบบแผนและมีความสม่ำเสมอตามแต่กิจกรรมของร่างกายที่มากน้อยต่างกันไป โดยทั่วไปในขณะพักหัวใจของคนเราจะเต้นอยู่ระหว่าง 50-100 ครั้งต่อนาที

ในกรณีที่เกิดความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นหัวใจเต้นเร็วเกินไป เต้นช้าเกินไป มีจังหวะหัวใจที่ขาดหายไปหรือแทรกมาก่อนจังหวะปกติ เหล่านี้ล้วนจัดเป็นหัวใจเต้นผิดปกติทั้งสิ้น โดยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะนี้ บางชนิดอาจไม่เป็นอันตราย แต่บางชนิดหากไม่ได้รับการตรวจอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตก็ได้ เพราะฉะนั้นหากมีอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่นบริเวณหน้าอก หายใจขัด เจ็บแน่นบริเวณหน้าอก เป็นลมหมดสติ ควรรีบมาพบแพทย์ทันที แต่สิ่งที่มักเป็นปัญหาคือ ผู้ป่วยโรคนี้หลายรายมักไม่มีอาการปรากฏ ทำให้ไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคนี้ จะทราบก็ต่อเมื่อเข้ารับการตรวจสุขภาพหรือป่วยด้วยโรคอื่นแล้วมาพบแพทย์

ในส่วนของการวินิจฉัย เมื่อแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์จะใช้การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรือที่รู้จักกันดีว่า EKG แต่ในบางครั้งภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภทก็ไม่สามารถตรวจพบด้วยวิธีนี้ได้ เนื่องจากความผิดปกติจะเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ และหายไป แพทย์อาจต้องใช้เครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (exercise stress test) การติด Holter monitor เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอดระยะเวลา 24-48 ชั่วโมง หรือการใช้สายสวนหัวใจสอดตามหลอดเลือดไปยังหัวใจห้องบนและล่างเพื่อตรวจระบบการนำไฟฟ้าในหัวใจ (cardiac electrophysiology study) โดยตัวบันทึกสัญญาณที่ส่วนปลายจะทำการบันทึกสัญญาณไฟฟ้าในหัวใจ แพทย์ก็จะทราบตำแหน่งของความผิดปกติที่แน่นอน

สำหรับการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น แพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ทั้งสาเหตุ อาการ ตำแหน่ง และความรุนแรงของโรค โดยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดอาจไม่ต้องทำการรักษา แต่ในชนิดที่ต้องทำการรักษาก็จะมีทางเลือกในการรักษาหลายวิธี ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น การใช้ยา การใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ การใช้สายสวนเพื่อจี้กล้ามเนื้อหัวใจที่นำไฟฟ้าผิดปกติ การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ การฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น

ทั้งนี้ แม้ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจจะไม่สามารถป้องกันได้ แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น การดื่มชา กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด และการสูบบุหรี่ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาดูแลสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดโอกาสของการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้บ้าง

เรียบเรียงโดย นพ.เกรียงไกร จิรสิริโรจนากร อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระแสไฟฟ้าหัวใจ ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

อ่านบทความสุขภาพอื่นๆได้ที่ www.bumrungrad.com