หอการค้าญี่ปุน-กรุงเทพ (JCC) เข้าหารือ คสช. หาทางออกเศรษฐกิจไทย

16 Jul 2014
นายฮิซามิจิ โคกะ ประธานหอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ (JCC) และคณะผู้บริหาร ได้เข้าพบและร่วมหารือกับ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) เพื่อเสนอแนะข้อคิดเห็นในการการพัฒนาของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

“ในฐานะตัวแทนของภาคธุรกิจ JCC ขอชื่นชม คสช. ที่ได้พยามให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาให้กับภาคธุรกิจมาโดยตลอด แต่ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือการคืนประชาธิปไตยและส่งมอบอำนาจทางการเมืองให้กับรัฐบาลพลเรือนโดยเร็วที่สุด เพื่อให้การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการการฟื้นฟูความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ จึงอยากเรียกร้องให้ คสช. เร่งดำเนินงานตาม Road Map เพื่อกำหนดให้มีการเลือกตั้งต่อไป

นอกจากนี้ JCC หวังว่า คสช.จะได้พิจารณาถึงสิ่งสำคัญในการดำเนินนโยบายและการตัดสินใจ ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ อาทิ ความโปร่งใสของกระบวนการจัดการภาครัฐ กรมศุลกากร และโครงการต่างๆ เพื่อกำจัดการคอร์รับชั่น โดยเสนอให้มีการเปิดเผยรายละเอียด วัตถุประสงค์ในการอนุมัติ หรือการประมูลโครงการต่างๆ และผลของการประมูล การยกเลิกระบบการให้รางวัลแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรในเรื่องของเบี้ยปรับในพิกัดศุลกากรหรือการประเมิน เป็นต้น ในส่วนของเศรษฐกิจการตลาด อยากจะให้ คสช. ลดการแทรกแซงทางเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อให้เหลือเฉพาะมาตรการที่จำเป็นเพื่อความมั่นคงในธุรกิจและชีวิตของประชาชน

อีกทั้งในส่วนของการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน โดยการเปิดตลาดผ่านทางข้อตกลงทางการค้าต่างๆ (RCEP, AEC, FTAs) โดยพัฒนา Hard Infrastructure เช่น ถนน รถไฟ ระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก และทางใต้ สู่ประเทศเมียนมาร์ และ Soft Infrastructure เช่น การพัฒนาระบบศุลกากร และข้อตกลงทางการขนส่ง เป็นต้น รวมถึงการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ พัฒนาทรัพยากรบุคคล ส่งเสริม SME ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน เทคโนโลยี และข้อมูลข่าวสาร และยกเลิกข้อจำกัดต่างๆในการลงทุนของภาคบริการ และเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการตั้งสำนักปฎิบัติการภูมิภาค (Regional Head Quarter or Regional Operating Headquartr (ROH) ในประเทศไทย ” นายฮิซามิจิ กล่าว

ด้านพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง กล่าวว่า ทาง คสช.ทราบดีถึงประเด็นที่ JCC เรียกร้อง โดยในส่วนของ Road map 3 ระยะที่ คสช.จะคืนประชาธิปไตยให้คนในชาติกำลังดำเนินไปอย่างราบรื่นและตอนนี้ได้เข้าสู่ระยะที่ 1 และไม่ได้นิ่งนอนใจในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจ พยายามเรียกความมั่นใจและเชิญชวนให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในไทยมากขึ้น

ส่วนประเด็นหลักที่ JCC แสดงความเป็นห่วง ทั้งในเรื่องความโปร่งใสของกระบวนการจัดการภาครัฐ และ ความสำคัญของเศรษฐกิจการตลาดนั้น เราจะเร่งปรับปรุงให้ดีขึ้นและยืนยันว่าไม่มีเป้าหมายที่จะแทรกแซงในตลาด และจะแจ้งข้อเรียกร้องนี้ไปยัง คสช.ต่อไป

ส่วนการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันโดยการเปิดตลาดผ่านทางข้อตกลงทางการค้าต่างๆ นั้น คสช.ทราบดีถึงบทบาทของ AEC RCEP และญี่ปุ่น จึงได้แจ้งไปทางกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน และพร้อมที่จะปรับปรุงข้อจำกัดต่างๆ ให้ดีขึ้น โดยเตรียมพร้อมที่จะพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางทะเล และทางอากาศ สำหรับการคมนาคมทางบกจะปรับปรุงถนนทางหลวง รถไฟทางคู่ และระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ด้านการคมนาคมทางทะเลมีโครงการจัดตั้งท่าเรือชายฝั่งอันดามันและเพิ่มความสามารถด้านการขนส่งในประเทศไทย ส่วนทางอากาศจะขยายความสามารถด้านการคมนาคมในสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ ภูเก็ต และเชียงใหม่ โดยคาดหวังการลงทุนจากญี่ปุ่นและประเทศต่างๆ

นอกจากนี้ ในส่วนของ SME ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ SME นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อสนับสนุนภาค SME และกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ส่วนเรื่อง ROH หรือ สํานักงานปฏิบัติการภูมิภาค คสช.ตระหนักถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของไทยโดยเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ โดยพร้อมน้อมรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุนเพื่อนำมาปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและเชิญชวนให้มาจัดตั้ง ROH มากขึ้น ทั้งนี้ คสช.หวังว่าจะได้มีโอกาสหารือกับ JCC ต่อไปอีก เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างกัน