สถาบันอาหาร แนะมาตรการเชิงรุก ลดผลกระทบส่งออกอาหารไปสหรัฐฯ

30 Jun 2014
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม แนะมาตรการเชิงรุก หวังลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทย จากกรณีถูกสหรัฐฯ ลดระดับบัญชีการค้ามนุษย์ ด้วยมูลค่าอาหารส่งออกไปสหรัฐฯที่อาจถูกขึ้นบัญชี สูงถึงปีละ 92,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 75 ของมูลค่าส่งออกอาหารไปสหรัฐฯ ราว 120,000 - 140,000 ล้านบาท ชี้ภาคเอกชนต้องนำระบบตรวจสอบย้อนกลับ(Tracebility) มาใช้อย่างเข้มข้นตลอดห่วงโซ่อุปทาน ภาครัฐและภาคเอกชนไทยต้องแสดงความจริงใจบูรณาการการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อให้สหรัฐฯ มีมุมมองบวกต่อประเทศไทย ทั้งเดินหน้าทำประชาสัมพันธ์เชิงรุกในทุกช่องทางเพื่อสื่อสารและทำความเข้าใจอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า ภายหลังจาก สหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประจำปี 2557 (Trafficking in Persons Report : TIP Report) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2557 โดยมีการปรับลดระดับประเทศไทยให้อยู่ในบัญชีต่ำสุด (Tier 3) ซึ่งเป็นการปรับลดอัตโนมัติหลังจากที่ไทยอยู่ในระดับ Tier 2 Watch List มาเป็นระยะเวลา 4 ปีติดต่อกัน ภาวการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความกังวลเรื่องผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทยที่จะตามมา รวมทั้งปัญหาจากการลงทุนอันเนื่องจากบริษัทข้ามชาติอาจพิจารณาทบทวนการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทย เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่อการใช้แรงงานที่มาจากการค้ามนุษย์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน

นายเพ็ชร กล่าวว่า ขณะนี้สามารถประเมินผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทยต่อกรณีดังกล่าวได้ 2 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่ ประเด็นที่เป็นผลกระทบทางตรงต่อการค้าอาหารของไทย แม้ว่าปัจจุบันสหรัฐฯ ยังไม่มีบทลงโทษด้วยการห้ามนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ถูกประเมินว่ามีปัญหาด้านการค้ามนุษย์แต่อย่างใด แต่ สหรัฐฯ อาจพิจารณาระงับให้ความช่วยเหลือที่มิใช่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและด้านการค้า เช่น ไม่สนับสนุนเงินทุนให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเทศที่มีปัญหาการค้าแรงงานมนุษย์ ในโครงการแลกเปลี่ยนการศึกษาและวัฒนธรรม รวมถึงความร่วมมือด้านต่างๆ นอกจากนี้ สหรัฐฯ อาจจะคัดค้านการให้ความช่วยเหลือประเทศที่มีปัญหาการค้ามนุษย์ บนเวทีขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หรือธนาคารโลก (World Bank) เป็นต้น

สำหรับประเด็นที่ 2 เป็นผลกระทบทางอ้อมต่อการค้าอาหารของไทยในแง่ของภาพลักษณ์สินค้า เนื่องจากสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ประกอบด้วย กุ้ง ปลา น้ำตาลทราย สิ่งทอ รวมทั้งสินค้าจำพวกสื่อลามก ได้ถูกกระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีตามกฎหมาย Trafficking Victims Protection Reauthorization Act of 2005 หรือ TVPRA (กฎหมาย TVPA-2000 ฉบับปรับปรุงปี 2005) ว่าเป็นสินค้าที่ผลิตโดยใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ รวมถึงได้มีการจัดทำรายงานและตีพิมพ์รายชื่อสินค้าจากประเทศไทย รวมทั้งสินค้านับร้อยรายการของ 73 ประเทศ เพื่อเผยแพร่ให้ชาวอเมริกันในฐานะผู้บริโภคได้รับทราบ ซึ่ง

นอกจากจะส่งผลต่อภาพลักษณ์สินค้าในกลุ่มดังกล่าวแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์โดยรวมของสินค้าอาหารไทยในสายตาผู้บริโภคสหรัฐฯ รวมทั้งในตลาดโลกอีกด้วย “ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารของไทยมีการส่งออกอาหารไปสหรัฐฯ สูงถึง 120,000 – 140,000 ล้านบาท ต่อปี โดยในจำนวนนี้เป็นการส่งออกอาหารทะเลมูลค่า 74,000 ล้านบาท หรือมากกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าส่งออกอาหารไปสหรัฐฯทั้งหมด ซึ่งแบ่งเป็นกุ้ง มูลค่า 51,300 ล้านบาท หรือร้อยละ 42 ทูน่ากระป๋อง มูลค่า 15,600 ล้านบาท หรือร้อยละ 13 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 5 หรือมูลค่าราว 7,100 ล้านบาท ประกอบด้วยปลาและอาหารทะเลอื่นๆ ส่วนการส่งออกน้ำตาลไปสหรัฐฯ มีมูลค่าค่อนข้างน้อยเพียงประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี ขณะที่การส่งออกผักผลไม้แปรรูปมีมูลค่า 17,600 ล้านบาท หรือร้อยละ 15 ของมูลค่าส่งออกอาหารไปสหรัฐฯ ซึ่งสินค้าอาหารทั้งสามกลุ่มที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีไปก่อนหน้านี้ เมื่อรวมกับผักผลไม้แปรรูป จะมีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ สูงถึง 92,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 75 ของมูลค่าส่งออกอาหารของไทยไปสหรัฐฯ”

นายเพ็ชร กล่าวต่อว่า หากไทยยังไม่สามารถทำให้สหรัฐฯ ถอดรายชื่อไทยออกจากการเป็นประเทศที่มีความรุนแรงด้านการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็กรวมถึงแรงงานบังคับ อาจทำให้ทางการสหรัฐฯ ใช้พลังผู้บริโภคกดดันสินค้าไทยมากขึ้น รวมถึงอาจมีการพิจารณาเพิ่มกลุ่มสินค้าในบัญชีรายชื่อที่เชื่อว่ามีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ ทั้งนี้นอกจากไทยแล้ว ประเทศในภูมิภาคที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีเป็นสินค้าที่อาจมีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับก็มีจำนวนไม่น้อย โดยประเทศที่มีสินค้าที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับไทยที่ถูกขึ้นบัญชี (เฉพาะสินค้าอาหาร) เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ กัมพูชา เป็นต้น ซึ่งเมียนมาร์เป็นประเทศที่มีสินค้าถูกขึ้นบัญชีมากที่สุด 7 รายการ รองลงมา ได้แก่ ฟิลิปปินส์ 6 รายการ ส่วน จีน เวียดนาม และสปป.ลาว ไม่มีสินค้าในกลุ่มอาหารที่ถูกขึ้นบัญชี

“เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทยนั้น รัฐบาลและภาคเอกชนไทยต้องแสดงความจริงใจบูรณาการการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ รวมทั้งการใช้แรงงานผิดกฎหมายในประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมและเกิดความยั่งยืน เพื่อให้สหรัฐฯ มีมุมมองบวกต่อประเทศไทย และเพื่อไม่ให้นานาประเทศใช้มาตรการดังกล่าวกดดันทางการค้าต่อไทยได้ในอนาคต

ขณะเดียวกันในภาคธุรกิจเอง ต้องใส่ใจในทุกขั้นตอนของการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ที่ต้องการันตีได้ว่ามาจากกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน เพราะปัจจัยดังกล่าวคือเงื่อนไขสำคัญที่สหรัฐฯ ปรับลดไทยไปอยู่ในบัญชีต่ำสุด ทั้งนี้ควรนำระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่มีอยู่แล้วในหลายองค์กร มาปรับใช้อย่างจริงจัง นอกจากนี้ควรดำเนินกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยใช้ช่องทางการสื่อสารสมัยใหม่เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน เพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์เพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจไปยังนานามิตรประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์ผ่อนหนักเป็นเบา และเพื่อมิให้ปัญหาที่เกิดส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรุนแรงไปมากกว่านี้” นายเพ็ชร กล่าว