“ละทิ้งธรรมาภิบาลในการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ยึดคืนพื้นที่ประชาชน กระชับอำนาจชนชั้นนำไทย”

29 Jul 2014
นี่คือส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2557

“การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหารัฐธรรมนูญ มาตรา 190 โดยมีเจตนาเพื่อเพิ่มอำนาจในการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศให้แก่ฝ่ายบริหาร ซึ่งประกอบด้วยบุคคลส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ตนสังกัดอยู่มีอำนาจ มากขึ้น โดยปราศจากการตรวจสอบจึงถือได้ว่าไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่เป็นการกระทำเพื่อความสะดวกของบุคคลเหล่านั้น การกระทำของผู้ถูกร้องจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศซึ่งไม่เป็นไปตาม วิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ สิทธิเสรีภาพและความเสมอของบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะสิทธิของประชาชน นอกจากนี้เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 4, 5 และมาตรา 87 อันเป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้”

จากเหตุผลสำคัญนี้ที่ทำให้ความพยายามในการที่จะเขี่ยประชาชนทิ้งจากกระบวนการจัดทำหนังสือสัญญาไม่สำเร็จอย่างไรก็ตาม ผู้ที่ขจัดประชาชนออกไปจากกระบวนการจัดทำหนังสือสัญญาออกไปสำเร็จ กลับเป็น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้ยึดอำนาจจากรัฐบาลเพื่อไทยเสียเอง

หากจะอ้างว่า รัฐธรรมนูญนี้เป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวเท่านั้น จึงไม่มีเวลาให้จัดรับฟังความคิดเห็น หรือศึกษาผลกระทบ แต่โดยความจริงแล้วไม่ว่าจะชั่วคราวหรือถาวร การจัดทำหนังสือสัญญาจะสำเร็จได้ ต้องมีกระบวนการที่ดีและมีธรรมาภิบาลดังนั้น การตัดขั้นตอนธรรมาภิบาลออกไปจึงส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงและไม่เป็นเหตุเป็นผลกับการที่จะอธิบายกับการใช้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว การตัดขั้นตอนธรรมาภิบาลออกไปเป็นความพยายามชนชั้นนำไทยไม่ว่าภาคธุรกิจหรือภาคราชการ นับตั้งแต่มาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ถือกำเนิดขึ้นมา

ตลอดชีวิตของมาตรา 190 ได้ก่อให้เกิดคุณูปการมากมายต่อประเทศไทย ได้วางรากฐานกระบวนการที่ดี แต่ขณะเดียวกัน มาตรา 190 ก็ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือฟาดฟันกลุ่มการเมืองขั้วตรงข้าม ดูเหมือนผู้มีอำนาจปัจจุบันจะมองเห็นเพียงประโยชน์อย่างหลัง ณ นาทีนี้ มาตรา 190 จึงหมดความหมาย

ทั้งที่จริงแล้ว การสร้างกรอบกติการะหว่างประเทศที่เป็นธรรมในยุคโลกาภิวัฒน์ จะเป็นการประกันความสุขให้กับประชาชน โดยไม่ต้องหวังพึ่งให้ใครมาคืน

ย้ำอีกครั้ง กระบวนการธรรมาภิบาลซึ่งประกอบด้วยการศึกษาผลกระทบของการจัดทำความตกลง การรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้สร้างความขัดแย้งหรือความเกลียดชังทางการเมืองแต่อย่างใด และไม่ได้ลดประสิทธิภาพการเจรจา ดังนั้น การกำจัดหลักการเหล่านี้ออกไป จึงเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง

ภาคประชาชนจะพยายามอย่างสร้างสรรค์และเต็มที่ที่จะนำหลักการและการมีส่วนร่วมกลับมาสู่การจัดทำความตกลงระหว่างประเทศโดยเร็วที่สุด