สคร.7 แนะประชาชนตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำ

20 May 2014
นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี เปิดเผยว่า การกินอาหารรสเค็มจัด กินผักผลไม้น้อย ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ มีภาวะเครียด และอายุที่เพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นภาวะที่ มีระดับความดันโลหิตสูงเรื้อรังมีค่าตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ผู้คนจำนวนมากไม่ทราบว่าตนเองเป็นเนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ค่อยปรากฏอาการที่ ชัดเจนในช่วงแรกแต่เมื่อปล่อยนานไปโดยไม่ได้รับการดูแลรักษา แรงดันในหลอดเลือดที่สูง จะไปทำลายผนังหลอดเลือดและอวัยวะที่สำคัญทั่วร่างกาย จึงเรียกโรคนี้กันว่า “เพชฌฆาตเงียบ โรคความดันโลหิตสูง” ว่าเป็นสาเหตุให้เกิดหัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมองแตก/ตีบโรคเบาหวาน และมีแนวโน้มของการเพิ่มการเป็นโรคไตวายระยะสุดท้าย ตามมาได้ สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลกจึงได้มีการกำหนดวันความดันโลหิตสูงโลก เป็น วันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี โดยมีคำขวัญเพื่อการรณรงค์ว่า “ท่านทราบระดับความดันโลหิตของท่านหรือไม่” “Know Your Blood Pressure”
สคร.7 แนะประชาชนตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำ

นพ.ศรายุธ กล่าวต่อว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคของการควบคุมความดันโลหิตคือ ประชาชนไม่รู้ว่าความดันโลหิตของตัวเองมีระดับสูงกว่าค่าปกติผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง จะมีระดับความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท โดยมีสัญญาณอาการเตือน เช่น ปวดมึนที่บริเวณท้ายทอย วิงเวียน ปวดศีรษะตุบตุบ หากเป็นมานานหรือระดับความดันสูงมากๆ จะมีเลือดกำเดาไหล ตามัว หรือมองเห็นภาพซ้อน มือสั่น หรือมือเท้าชา หากมีอาการปวด วิงเวียนศีรษะ ตามัว เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว หอบเหนื่อย หายใจลำบากในตอนกลางคืน ปัสสาวะออกน้อย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน หรือปัสสาวะเป็นเลือด ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน เนื่องจากผลจากความดันโลหิตสูงทำให้เกิดผลเสียต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะที่สำคัญ อาทิ หัวใจทำให้หลอดเลือดหัวใจเสื่อมสภาพและเกิดการอุดตัน ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด สมอง ความดันโลหิตสูงสามารถจะทำให้หลอดเลือดสมองตีบตัน และเส้นเลือดสมองแตกทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ไต ความดันโลหิตสูงสามารถจะทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงไตเสื่อมได้เช่นกัน ตา จอประสาทตามีโอกาสเสื่อมจากเส้นเลือดฝอยอุดตัน เส้นเลือดฝอยแตก จอประสาทตาลอกได้ง่าย ทำให้เกิดภาวะตามัวและอาจทำให้ตาบอดได้ หลอดเลือด ความดันโลหิตสูง อาจทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายเสื่อมและสามารถส่งผลกระทบต่ออวัยวะทั่วร่างกายได้

นพ.ศรายุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อแนะนำในการสร้างวินัยการควบคุมความดันโลหิตของผู้ป่วย ควรจะตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง จดบันทึกทุกครั้ง ควรวัดในช่วงเช้าหรือช่วงค่ำก่อนนอน และวัดในเวลาเดียวกันทุกวัน เพื่อเป็นข้อมูลแก่แพทย์ผู้รักษาในการปรับลดการจ่ายยาควบคุมความดันให้เหมาะ สม รวมทั้งต้องควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน ลดอาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง อาหารสำเร็จรูป อาหารจานด่วนซึ่งมีปริมาณไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง ที่สำคัญผู้ป่วยจะต้องกินยาควบคุมความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์สั่ง ซึ่งยาจะมีผลในการลดความดันโลหิต ป้องกันโรคหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต