คืบหน้าการผลักดันวัคซีน“ไวรัสโรต้า” บรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐานในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย

13 Jun 2014
คืบหน้าผลการนำร่องทดสอบให้วัคซีนไวรัสโรต้าในพื้นที่ จ.สุโขทัย ข้อมูลล่าสุดพบประชาชนให้การยอมรับนำบุตรหลานมารับวัคซีนไวรัสโรต้าทั้งหมด 16,139 คน ความครอบคลุมเกินกว่าร้อยละ 90 ทุกตำบล จึงน่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะบรรจุวัคซีน“ไวรัสโรต้า”เป็นวัคซีนพื้นฐานในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ
คืบหน้าการผลักดันวัคซีน“ไวรัสโรต้า” บรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐานในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย

นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าวัคซีนโรต้าเป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันอันตรายจากไวรัสโรต้าสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงที่พบมากที่สุดในเด็กเล็ก ซึ่งทำให้เด็กเล็กทั่วโลกเสียชีวิตกว่า 500,000 รายต่อปี และยังเป็นสาเหตุที่ทำเด็กในประเทศไทยต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลเพราะโรคอุจจาระร่วงถึงร้อยละ 43 การให้วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้าแก่เด็กถือเป็นวิธีป้องกันโรคที่ดีที่สุด สามารถลดความรุนแรงของโรค และลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ ปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้าแล้วในประเทศไทย ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าอย่างรุนแรงได้มากกว่าร้อยละ 95 องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้หลายประเทศบรรจุวัคซีนนี้ไว้ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ มีหลายประเทศที่ได้จัดบริการวัคซีนโรต้าแก่เด็กและได้ทดสอบประสิทธิผลของวัคซีนเมื่อใช้ในพื้นที่จริง สำหรับประเทศไทยกระทรวงสาธารณสุขมีแผนจะบรรจุวัคซีนโรต้าเป็นวัคซีนพื้นฐานหรือวัคซีนภาคบังตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติ โดยได้มีการนำร่องทดสอบให้วัคซีนชนิดนี้ที่จังหวัดสุโขทัยมาตั้งแต่เดือน ต.ค.2554 ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน คนละ 2 ครั้ง เมื่อเด็กอายุ 2 และ 4 เดือน จำนวนปีละ 5,000 คน รวม 15,000 คน ในระยะเวลา 3 ปี ล่าสุด )ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2557) พบว่ามีเด็กอยู่ในช่วงที่ได้รับวัคซีนทั้งหมด 16,139 คน จากที่กรมควบคุมโรคได้สนับสนุนวัคซีนให้ 26,323 โด๊ส คิดเป็นร้อยละ 92.7 ถือว่าการได้รับวัคซีนโรต้าของเด็กอยู่ในอัตราที่ครอบคลุมเกินกว่าร้อยละ 90 ทุกตำบล

“ทั้งนี้จากการปะเมินการให้บริการวัคซีนโรต้าในภาพรวมโดยการสุ่มเยี่ยมติดตามหน่วยบริการเป็นระยะพบว่าวัคซีนมีความปลอดภัย เจ้าหน้าที่สามารถบริหารจัดการโดยให้วัคซีนนี้พร้อมกับวัคซีนอื่นที่อยู่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้เป็นอย่างดี ประชาชนให้การยอมรับและนำบุตรหลานมารับวัคซีนโรต้า ทำให้ความครอบคลุมอยู่ในเกณฑ์สูง แต่เพื่อให้การพิจารณานำวัคซีนนี้เข้ามาบรรจุในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเป็นไปอย่างรอบครอบ จึงต้องมีการประเมินความคุ้มทุนของวัคซีนโรต้า ด้วยวิธีการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เพื่อประเมินประสิทธิผลของวัคซีนหลังจากให้ในกลุ่มเป้าหมาย โดยการเปรียบเทียบระหว่างจังหวัดที่ไม่ได้ให้วัคซีนและจังหวัดที่ให้วัคซีนโรต้า และจะมีการเก็บตัวอย่างอุจจาระเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโรต้า มีการคิดค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อมว่าการให้วัคซีนคุ้มกว่าค่าใช้จ่ายในการรักษามากน้อยเพียงใด ซึ่งมีระยะเวลาการศึกษา 3 ปี ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาคาดว่าจะเสร็จสิ้นประมาณเดือนมกราคม 2558 นี้ และน่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะบรรจุวัคซีนโรต้าเป็นวัคซีนพื้นฐานในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ เพื่อให้เด็กไทยทุกคนมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนโรต้าได้อย่างเท่าเทียมได้รับการปกป้องจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต” อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน กล่าวขณะลงพื้นที่ ที่ จ.สุโขทัย ว่าการที่ทางกระทรวงสาธารณสุขเลือกสุโขทัยเป็นจังหวัดนำร่องทดสอบการให้วัคซีนโรต้าในเด็กถือว่ามีความเหมาะสม เนื่องจากมีความพร้อมด้านบุคลากร มีระบบบริการเป็นที่ยอมรับของประชาชน ไม่มีปัญหาการปฏิเสธการรับวัคซีน มีผลความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนอื่นๆอยู่ในเกณฑ์ดี และมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่เหมาะสม ปัจจุบันการทดสอบให้วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าในพื้นที่มีความคืบหน้าไปมาก ซึ่งทางมูลนิธิฯจะเร่งรณรงค์และประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องวัคซีนโดยจะประสานบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในงานด้านวัคซีนมาร่วมกระจายความรู้เรื่องวัคซีนและความสำคัญของวัคซีนสู่ภาคประชาชนและนักวิชาการ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ความรู้เรื่องวัคซีนแก่บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข และจะสนับสนุนการดำเนินงานของกรมควบคุมโรคในการขับเคลื่อนนโยบายด้านวัคซีนเพื่อเร่งผลักดันให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของวัคซีนที่มีความจำเป็นในการปกป้องประชาชนจากโรคร้ายต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาวัคซีนให้คนไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ในราคาที่ถูกลง

“ ทั้งนี้จากข้อมูลการติดตามปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงในเด็กของโรงพยาบาลสุโขทัยพบว่ามีอัตราการเจ็บป่วยน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งข้อสรุปและข้อมูลต่างๆนี้จะมีการส่งให้ทางกรมควบคุมโรคซึ่งเป็นหน่วยงานหลักทำการสรุปผลอย่างเป็นทางการอีกครั้ง คาดว่าน่าจะได้ผลที่ชัดเจนประมาณต้นปี 2558 ซึ่งเชื่อมั่นว่าผลการประเมินเบื้องต้นจากการได้รับวัคซีนโรต้าในพื้นที่นำร่อง จ.สุโขทัยครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการให้วัคซีนนี้ทั้งประเทศ คาดว่าหากวัคซีนมีประสิทธิภาพดี สามารถลดอัตราป่วยได้ดีและมีราคาที่เหมาะสม ก็น่าจะมีการพิจารณานำวัคซีนบรรจุเข้าในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคภายในอีก 2-3 ปีนี้” ประธานมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชนกล่าว

คืบหน้าการผลักดันวัคซีน“ไวรัสโรต้า” บรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐานในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย คืบหน้าการผลักดันวัคซีน“ไวรัสโรต้า” บรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐานในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย คืบหน้าการผลักดันวัคซีน“ไวรัสโรต้า” บรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐานในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย คืบหน้าการผลักดันวัคซีน“ไวรัสโรต้า” บรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐานในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย คืบหน้าการผลักดันวัคซีน“ไวรัสโรต้า” บรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐานในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย