สมาพันธ์หัวใจโลกเผยบริษัทยาบริสตอล-ไมเยอร์ส สควิบบ์ และไฟเซอร์ บริจาคเงินให้โครงการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

25 Sep 2014
โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (atrial fibrillation: AF) เป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดที่พบมากที่สุดในโลก และเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองราว 15-20%

สมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation: WHF) มีความยินดีที่จะประกาศว่า ทางองค์กรได้รับเงินบริจาคจากบริษัทเวชภัณฑ์ชื่อดังอย่าง บริสตอล-ไมเยอร์ส สควิบบ์ (Bristol-Myers Squibb) และไฟเซอร์ (Pfizer) เพื่อสนับสนุนโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (AF) รวมถึงผู้ดูแลผู้ป่วย ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และผู้กำหนดนโยบาย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ร่วมกับโรคได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อยกระดับการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) โครงการดังกล่าวซึ่งได้รับความร่วมมือจากสภาที่ปรึกษาผู้ป่วย (Patient Advisory Council: PAC) เอื้อประโยชน์อย่างยิ่งต่อการบรรลุเป้าหมายตามนโยบาย “25x25” ของ WHF ในการลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรค CVD ให้ได้ 25% ภายในปีค.ศ.2025 (พ.ศ.2568)

สภาที่ปรึกษาผู้ป่วยได้จัดการประชุมครั้งปฐมฤกษ์ระหว่างการประชุมแพทย์โรคหัวใจแห่งโลก (World Congress of Cardiology) ของ WHF ที่เมลเบิร์น โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจชั้นนำและตัวแทนกลุ่มผู้ป่วยเข้าร่วมอภิปรายเกี่ยวกับผู้ป่วยโรค AF และปัจจัยสำคัญๆที่สัมพันธ์กับโรค ได้แก่ การสังเกตอาการ การวินิจฉัย การดูแลรักษา และการปฏิบัติตามแนวทางการรักษา

โรค AF เกิดจากกระแสไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติ ซึ่งส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ เช่น เหนื่อยล้า วิงเวียนศีรษะ และหายใจถี่ AF เป็นโรคที่วินิจฉัยยากเพราะผู้ป่วยไม่ได้แสดงอาการกันทุกคน ดังนั้นผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัวว่าป่วยจนกว่าจะเข้ารับการตรวจสุขภาพ

โจฮันนา ราลสตัน ประธานบริหาร WHF กล่าวว่า “AF เป็นโรคที่บั่นทอนกำลังและเป็นภัยเงียบที่เกิดกับคนหลายล้านคนทั่วโลก วัตถุประสงค์สำคัญที่สุดของโครงการนี้คือ การช่วยเหลือผู้ป่วยโรค AF และครอบครัวซึ่งต้องการความช่วยเหลือและคำแนะนำในการรับมือกับโรคดังกล่าว ฉันรู้สึกตื่นเต้นกับการประชุมที่เมลเบิร์น และหวังว่าโครงการนี้จะเติบโตและพัฒนาต่อไป”

ข้อเสนอแนะในการประชุมครั้งแรกได้ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยโรค AF และผู้ดูแล รวมทั้งนำเสนอข้อเท็จจริงที่ว่า การวินิจฉัยโรคยังมีช่องว่างอยู่ ขณะเดียวกันสมาชิกทุกคนในที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่า การช่วยเหลือและให้ความรู้แก่ผู้ป่วยโรค AF โดยเฉพาะเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนในเชิงปฏิบัติ ได้แก่ การให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยและผู้ดูแล การจัดหาอุปกรณ์จำเป็น และการช่วยเหลืออื่นๆ เช่น บล็อกและเว็บไซต์ต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับโรค AF ได้ดีขึ้น

นอกเหนือไปจากการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยแล้ว สภาที่ปรึกษาผู้ป่วยยังมีความเห็นตรงกันว่า ควรมีการดำเนินการในระดับคลินิกและระดับนโยบายเพื่อยกระดับการรักษาโรค AF ทั่วโลก โดยวงการแพทย์จะได้รับประโยชน์จากการฝึกอบรมและการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโรคดังกล่าว และเนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ไม่มีนโยบายระดับชาติเกี่ยวกับโรค AF ดังนั้นการกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมการระดมทุน การฝึกอบรม และการรณรงค์เกี่ยวกับโรคนี้ จึงอาจช่วยปรับปรุงคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยได้

เดวิด เดมิกโก หัวหน้าแผนกงานแพทย์ ฝ่ายผลิตภัณฑ์นวัตกรรมระดับโลกของไฟเซอร์ กล่าวว่า “การศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรค AF เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากโรคนี้มีอันตรายร้ายแรงมาก โดยผู้ป่วยโรค AF มีความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นโรค AF ถึง 5 เท่า”

“ไฟเซอร์รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้สานต่อพันธกิจในการช่วยเหลือผู้ป่วยผ่านการสนับสนุนโครงการนี้”

“บริสตอล-ไมเยอร์ส สควิบบ์ และไฟเซอร์ เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า การยกระดับการรักษาผู้ป่วยโรค AF ต้องเริ่มต้นด้วยการเพิ่มความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะผิดปกติดังกล่าว ไปพร้อมๆกับการสร้างโอกาสใหม่ๆเพื่อพัฒนาการรักษาให้ดียิ่งขึ้น” ชารอน เฮนรี่ รองประธานและหัวหน้าฝ่ายสนับสนุนด้านการแพทย์ระดับโลกของบริสตอล-ไมเยอร์ส สควิบบ์ กล่าว “การรับมือกับโรค AF เป็นเรื่องที่ซับซ้อน และเราก็รู้สึกยินดีที่ได้ร่วมบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนโครงการศึกษาโรค AF ของ WHF ซึ่งเป็นโครงการอิสระที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรค AF โดยเฉพาะ”

การดำเนินงานขั้นต่อไปของโครงการคือการประชุมเชิงปฏิบัติการในประเทศซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ โดยผู้เข้าร่วมประชุมจะทำงานร่วมกันในระดับท้องถิ่น เพื่อหาทางแก้ปัญหาสำคัญๆที่มีการกล่าวถึงในการประชุมครั้งแรก

เกี่ยวกับสมาพันธ์หัวใจโลก

สมาพันธ์หัวใจโลก (WHF) เป็นองค์กรชั้นนำของโลกเพียงหนึ่งเดียวที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) มารวมตัวกันเพื่อช่วยให้ผู้คนทั่วโลกมีหัวใจที่แข็งแรง เรามุ่งมั่นที่จะลดอัตราการเสียชีวิตจากโรค CVD ให้ได้อย่างน้อย 25% ภายในปี 2568

ด้วยเหตุนี้ เราและสมาชิกมากกว่า 200 ราย จึงทุ่มเททำงานเพื่อยุติการเสียชีวิตที่ไม่จำเป็นอันเกิดจากบุหรี่และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ การเข้าไม่ถึงการรักษา และภาวะที่ถูกละเลยอย่างโรคหัวใจรูมาติก ซึ่งคร่าชีวิตเด็กหลายแสนคนทุกปี WHF และสมาชิกของเราในกว่า 100 ประเทศ มุ่งมั่นที่จะรับมือกับโรคหัวใจและหลอดเลือดในระดับนโยบาย ตลอดจนระดมสมองแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด พัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อรับมือกับโรค CVD ซึ่งเป็นโรคร้ายหมายเลข 1 ของโลก ทั้งนี้ WHF เป็นแกนนำในการรับมือกับโรค CVD และสนับสนุนการรักษาสุขภาพของหัวใจให้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ทุกชีวิตทั่วทุกมุมโลกมีชีวิตที่ดีขึ้น อายุยืนขึ้น และมีหัวใจที่แข็งแรงขึ้น

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

http://www.worldheart.org

http://www.facebook.com/worldheartfederation

twitter.com/worldheartfed

ติดต่อ

โรซี่ ไอร์แลนด์

โทร. +44(0)7590-228701

อีเมล: [email protected]

แหล่งข่าว: สมาพันธ์หัวใจโลก