ไทยคมแจงพายุสุริยะไม่ส่งผลกระทบ พร้อมให้บริการต่อเนื่อง

15 Sep 2014

ตามที่ปรากฏข่าวการเกิดพายุสุริยะจากการพยากรณ์ และการติดตามพบว่าระดับพลังงานที่สูงนั้นเกิดในช่วงวันที่ 11 กันยายน ซึ่งผลกระทบที่อาจจะเกิดต่อโลก จะอยู่ในส่วนแถบขั้วโลก ปัจจุบันพบว่าพลังงานลดลงแล้ว บริษัทไทยคมได้เตรียมการโดยมอบหมายทีมวิศวกรรมดาวเทียมและปฏิบัติการควบคุมดาวเทียมให้เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด โดยตรวจสอบสถานะของระบบดาวเทียมอย่างต่อเนื่อง มั่นใจไม่กระทบบริการและสามารถรับมือได้กรณีเกิดเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอวกาศ แม้ไม่ปรากฏว่าจะส่งผลกระทบในไทย

นายไพบูลย์ ภานุวัฒนวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านเทคนิค บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง กระแสข่าวการเกิดเหตุพายุสุริยะ (Solar Flares) ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติในอวกาศ โดยจากการตรวจสอบพบว่าระดับพลังงานที่สูงในช่วงนี้น่าจะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 11 กันยายนตามเวลาประเทศไทย ทั้งนี้ พบว่าพลังานดังกล่าวได้ลดระดับลงแล้ว จากการติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลของทีมวิศวกรของบริษัทไทยคมอย่างใกล้ชิด ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะเกิดผลกระทบต่อดาวเทียมในวงโคจรค้างฟ้าซึ่งอยู่ในระดับเส้นศูนย์สูตร อย่างไรก็ตาม ไทยคมได้เตรียมความพร้อม โดยจัดให้มีการเฝ้าระวังตามมาตรการและกระบวนการจัดการตามมาตรฐานทางวิศวกรรม รวมถึงติดตามตรวจสอบสถานะของระบบดาวเทียมอย่างต่อเนื่อง ด้วยประสบการณ์ของบริษัทไทยคมซึ่งให้บริการดาวเทียมมากว่า 20 ปี ไทยคมมั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการและให้บริการได้ตามปกติ

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์พายุสุริยะ เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานอันมหาศาลออกมา ณ บริเวณที่มีความเข้มของสนามแม่เหล็กสูงบนดวงอาทิตย์ โดยพลังงานที่ปล่อยออกมานั้นส่วนหนึ่งจะอยู่ในรูปของพลังงานแสงที่มองเห็น ดังนั้น จึงสามารถสังเกตเห็นแสงที่มีความเข้มสูงบริเวณผิวหน้าของดวงอาทิตย์ในขณะที่เกิดพายุสุริยะได้ โดยพลังงานอีกส่วนหนึ่งจะอยู่ในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น รังสีเอ็กส์, รังสีแกมม่า, และรังสียูวี ซึ่งจะส่งออกมาพร้อมกับอนุภาคเล็กๆ โดยพลังงานเหล่านี้จะถูกลดทอนลงเมื่อเข้าใกล้บรรยากาศของโลก เนื่องจากสนามแม่เหล็กของโลกช่วยต้านไว้ ตามสถิติจะมีรอบของระดับพลังงานที่สูงขึ้นประมาณ 10-11ปี ซึ่งปรากฎการณ์ในครั้งนี้มีทิศทางไปยังแถบขั้วโลก ในขณะที่ดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้าอยู่ในระดับเส้นศูนย์สูตร อีกทั้งดาวเทียมสื่อสารนี้ก็ได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับผลกระทบจากพายุสุริยะตามมาตรฐานอุตสาหกรรม จึงไม่น่ากังวลแต่อย่างใด

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit