ธ.กรุงเทพ & ธ.ไทยพาณิชย์ Bank of the Year 2015

09 Apr 2015
ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ โชว์ผลประกอบการเด่น ครองแชมป์ร่วมธนาคารแห่งปี 2558 ธนาคารกสิกรไทยนั่งแท่นอันดับ 3 ตามด้วยธนาคารกรุงไทยติดอันดับ 4 เผยแบงก์พาณิชย์ไทยยังแกร่งทำกำไรรวมกว่า 2.1 แสนล้านบาท

การเงินธนาคาร ฉบับเดือนเมษายน 2558 ประกาศผลการจัดอันดับ ธนาคารแห่งปี 2558 หรือ Bank of the Year 2015 โดยใช้ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง ในรอบปี 2557 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2557 มาพิจารณาจัดอันดับ ปรากฏว่า ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ครองแชมป์ธนาคารแห่งปี 2558 ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เคยครองแชมป์ธนาคารแห่งปีร่วมกันมาแล้ว 2 ครั้งในปี 2552 และ 2555

ธนาคารกรุงเทพ ยังคงมีผลการดำเนินงานเติบโตต่อเนื่อง โดยมีกำไรสุทธิสูงเป็นอับดับ 3 ที่ 36,332.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 426.62 ล้านบาท หรือ 1.19% มีกำไรสุทธิต่อหุ้นและอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) สูงเป็นอันดับ 2 ที่ 19.03 บาท และ 26.14% ตามลำดับ โดยกำไรสุทธิของธนาคารที่เพิ่มขึ้นมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นถึง 3,118 ล้านบาท ตามการขยายตัวของสินเชื่อจากลูกค้าทุกกลุ่มทั้งลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ ลูกค้าธุรกิจรายกลางและรายปลีก ลูกค้าบุคคล และลูกค้าต่างประเทศ

นอกจากความสามารถในการทำกำไรแล้ว ธนาคารกรุงเทพยังคงให้ความสำคัญกับความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงิน โดยตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสูงเป็นอันดับ 1 ของระบบธนาคารพาณิชย์ถึง 89,411.51 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่ออยู่ที่ 5.02% และดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงรวมทั้งสิ้น 17.41% รวมทั้งยังมีมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 169.47 บาทอีกด้วย

ทั้งนี้จากจุดแข็งของธนาคารกรุงเทพที่ยึดปรัชญาทางธุรกิจในการเป็น “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ทำให้ธนาคารสามารถพัฒนาสายสัมพันธ์ที่ยาวนานจนได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย และได้รับการสานต่อมาตลอดหลายทศวรรษ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเจริญเติบโตและเอื้ออำนวยให้ธนาคารสามารถขยายธุรกิจคู่ขนานไปกับความต้องการทางการเงินที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าได้เป็นอย่างดี สำหรับ ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังคงสามารถสร้างผลกำไรสุทธิสูงสุดติดต่อกันเป็นปีที่ 5 และสูงที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ โดยในปี 2557 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 53,334.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,101.83 ล้านบาท หรือ 6.17% และมีอัตรากำไรสุทธิที่ 32.16% และอัตราผลตอบแทนจากส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) 20.07% สูงเป็นอันดับ 1 เช่นเดียวกัน

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้กำไรสุทธิเติบโตในระดับที่ดีต่อเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิอันเป็นผลจากการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ย และการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมบริการ สำหรับในปี 2558 ธนาคารไทยพาณิชย์กำหนดกลยุทธ์หลัก มุ่งเน้น 4 ด้าน ได้แก่ 1.ปรับเปลี่ยนการให้บริการลูกค้าเอสเอ็มอีให้ครอบคลุมห่วงโซ่ทางธุรกิจของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่รายหลัก รวมถึงพัฒนาความสัมพันธ์กับลูกค้าของธนาคารให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และมุ่งเน้นลูกค้ารายย่อยในกลุ่มเอสเอ็มอี 2.เพิ่มอัตราการเข้าถึงลูกค้า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมและประเภทธุรกิจที่เป็นเป้าหมาย 3.เร่งการปรับเปลี่ยนกระบวนการปฏิบัติงานให้เป็นระบบดิจิตอล เพื่อเพิ่มความสะดวกของลูกค้า และดึงดูดลูกค้าใหม่ และ 4.พัฒนาขีดความสามารถของพนักงาน รวมถึงเพิ่มความสามารถใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนกลยุทธ์ของธนาคารให้ประสบความสำเร็จ

ด้าน ธนาคารกสิกรไทย อยู่ในอันดับ 3 โดยมีรายได้รวมสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 231,766.92 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิสูงเป็นอันดับ 2 ที่ 46,153.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,828.60 ล้านบาท หรือ 11.68% และมีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) สูงเป็นอันดับ 1 ที่ 2.69%

สำหรับทิศทางในปี 2558 ธนาคารกสิกรไทยกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะมุ่งเน้น 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1. การเป็นอันดับหนึ่งด้านธนาคารหลักของลูกค้าในทุกกลุ่มลูกค้า และมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง 2. การเป็นผู้นำด้านการให้บริการทางการเงินในโลกดิจิตอล และบริการ Transaction Banking 3. การเป็น “AEC+3 Bank” เพื่อตอบสนองต่อโอกาสทางธุรกิจซึ่งมาจากการเกิดขึ้นของ AEC รวมถึงโอกาสทางธุรกิจกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และ 4. การเน้นย้ำเรื่องบริการที่เป็นเลิศตามแนวคิด “บริการทุกระดับประทับใจ” และการเสริมสร้างตำแหน่งทางการตลาดให้แข็งแกร่ง

ส่วน ธนาคารกรุงไทย ครองอันดับ 4 โดยมีกำไรสุทธิสูงเป็นอันดับ 4 จำนวน 33,191.03 ล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทยมีเป้าหมายและแผนงานภายใต้แนวคิด 3 Summits คือ 1st Summit เป็นการวางรากฐานที่แข็งแกร่งของธนาคารในด้านต่างๆ 2nd Summit เป็นการปิด Gap กับคู่เทียบในด้านส่วนแบ่งการตลาดและผลกำไร และ 3rd Summit เป็นองค์กรที่ดีที่สุดในการทำงาน และเป็นบ้านหลังที่สองของพนักงาน

อันดับ 5 ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งผลจากการมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการผสานจุดแข็งของธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (BTMU) บริษัทในเครือของ MUFG กลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ทำให้ธนาคารสามารถสร้างกำไรสุทธิในปี 2557 จำนวน 14,169.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,302.88 ล้านบาท หรือ 19.41% และยังบรรลุก้าวย่างทางธุรกิจที่สำคัญ โดยยอดเงินให้สินเชื่อเติบโตขึ้นเป็นกว่า 1 ล้านล้านบาท เป็นครั้งแรก

ธนาคารทิสโก้ อยู่ในอันดับ 6 โดยมีกำไรสุทธิ 3,091.04 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มทิสโก้มีการกำหนดแผนกลยุทธ์ในปี 2558 โดยมีประเด็นที่มุ่งเน้น คือ 1. การให้บริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด 2. การขยายช่องทางการจำหน่ายและทีมขาย 3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพ 4.การสร้างและสื่อสารแบรนด์ และ 5. การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และฐานข้อมูลเพื่อการตัดสินใจทางธุรกิจ

ส่วน ธนาคารธนชาต อยู่ในอันดับ 7 โดยมีกำไรสุทธิ 11,513.42 ล้านบาท ลดลง 3,871.47 ล้านบาท หรือ 25.16% อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 ธนาคารธนชาตก็จะยังคงมุ่งมั่นเสนอผลิตภัณฑ์เงินออมและการลงทุน ด้วยแนวคิดใหม่ๆ และคุณภาพบริการที่เป็นเลิศ ทั้งเพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่และรักษาลูกค้าเดิมไว้

อันดับ 8 ได้แก่ ธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบี โดยสามารถทำกำไรสุทธิได้เพิ่มขึ้นถึง 3,801.54 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 66.26% สำหรับเป้าหมายในปี 2558 ธนาคารทีเอ็มบียังคงมุ่งมั่นสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพและยั่งยืนโดยตั้งเป้าเงินรับฝากเติบโต 8-10% และตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 8-10% ในทุกกลุ่มธุรกิจ แต่ยังเน้นที่กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีให้เติบโตมากที่สุด พร้อมทั้งมารตราการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น และตั้งเป้า ROE ที่ 14-15%

ธนาคารเกียรตินาคิน อยู่ในอันดับ 9 โดยมีกำไรสุทธิ 2,636.08 ล้านบาท ลดลง 1,782.11 หรือ 40.34% ทั้งนี้ในปี 2558 ธนาคารเกียรตินาคินเน้นกลยุทธ์ 3 ด้าน คือ 1.การพัฒนาช่องทางในการให้บริการ 2.การเพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจ และ 3.การเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้มีความหลากหลาย

ด้าน ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) อยู่ในอันดับ 10 โดยธนาคารมีกำไรสุทธิ 2,199.93 ล้านบาท ลดลง 750.82 ล้านบาท หรือ 25.45% ทั้งนี้ สำหรับปี 2558 ธนาคารยังคงเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตรงต่อความต้องการของลูกค้า และการบริหารการเงินการลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับลูกค้า

ธนาคารยูโอบี อยู่ในอันดับ 11 โดยมีกำไรสุทธิ ลดลง 475.31 ล้านบาท มาอยู่ที่ 2,471.54 ล้านบาท หรือลดลง 16.13% ทั้งนี้ในปี 2558 ธนาคารยูโอบียังคงลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ รวมถึงตอบสนองลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนด้วยเครือข่ายสาขาที่แข็งแกร่งของกลุ่มธนาคารยูโอบีที่มีอยู่ทั่วภูมิภาคเอเชีย

ด้าน ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ อยู่ในอันดับ 12 โดยมีกำไรสุทธิ 1,228.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 313.09 ล้านบาท หรือ 34.22% โดยธนาคารตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อในปี 2558 ที่ 10-15% และรักษาระดับ NPLอยู่ในกรอบที่ 2.0% ส่วนผลประกอบการตั้งเป้าเติบโต 10-15%

ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) อยู่ในอันดับ 13 โดยมีกำไรสุทธิรวม 1,189.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 175.53 ล้านบาท หรือ 17.31% ทั้งนี้ธนาคารมุ่งเน้นการเติบโตในทุกกลุ่มลูกค้า โดยจะเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนพิจารณาสินเชื่อควบคู่กับการดูแลคุณภาพของเงินให้สินเชื่ออย่างใกล้ชิด และบริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

ส่วน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย อยู่ในอันดับ 14 โดยมีกำไรสุทธิ 988.80 ล้านบาท ลดลง 501.31 ล้านบาท หรือ 33.64% ซึ่งในปี 2558 จะเป็นปีที่ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จะใช้ทรัพยากรด้านคน ระบบ ผลิตภัณฑ์และบริการ ผสานเข้ากับพันธมิตรทางธุรกิจ และเครือข่ายอาเซียน เข้าไปนำเสนอบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม สำหรับอันดับ 15 ตกเป็นของ ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย โดยธนาคารมีกำไรสุทธิ 35.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.80 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว หรือเพิ่มขึ้น 33.59 ล้านบาท คิดเป็น 1,866.11% โดยธนาคารยังคงตั้งเป้าหมายที่จะเป็นธนาคารขนาดเล็กที่ดีที่สุดในประเทศไทย เน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยและไมโครไฟแนนซ์ ที่อาจจะมีอุปสรรคในการเข้าถึงเงินทุน และต้องหันไปพึ่งแหล่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งมีต้นทุนทางการเงินที่สูง