ก.พลังงาน เผยข่าวดีเดินหน้าส่งเสริมพลังงานทดแทนเต็มสูบ ชี้ขั้นตอนหลักเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ FiT-bidding และการจัดทำโซนนิ่งศักยภาพสายส่งรองรับการซื้อไฟฟ้า ตามมติ กพช. ล่าสุดจะได้ข้อสรุปสิ้นเดือนมค.นี้ มั่นใจสร้างโอกาสให้กลุ่มขยะ ชีวมวล แก๊สชีวภาพ พลังน้ำ และลม เข้าระบบผลิตไฟฟ้าได้สอดคล้องกับศักภภาพพื้นที่แต่ละภาคของประเทศได้สูงสุด
นายทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการเตรียมขั้นตอนและหลักเกณฑ์การพิจารณาและประมูลรับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ Feed in Tariff Biding (FiT- biding) ซึ่งจะเป็นวิธีใหม่ในการประเมินและคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในปี 2558 – 59 (ไม่รวมพลังงานแสงอาทิตย์) ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)เมื่อวันที่ 15 ธค. 57 ที่ผ่านมา โดยเบื้องต้นกระทรวงพลังงานเชื่อว่ารูปแบบ FiT biding นี้ จะสามารถสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานจากชีวมวล ชีวภาพ พลังน้ำ และพลังงานลม
ทั้งนี้ ขบวนการ Fit biding ดังกล่าว จะประเมินพื้นที่หรือโซนนิ่งจากศักยภาพของเชื้อเพลิง และระบบสายส่งที่รองรับโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบได้ ซึ่งปัจจุบันกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) อยู่ระหว่างดำเนินการ และคาดว่าจะได้ข้อสรุปศักยภาพของเชื้อเพลิงที่สอดคล้องกับระบบสายส่งในแต่ละพื้นที่ได้ ภายในสิ้นเดือนมค. 58 นี้ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. จะนำผลการจัดทำโซนนิ่งดังกล่าว ไปประกอบการกำหนดขั้นตอนเงื่อนไขหลักเกณฑ์ เพื่อการพิจารณาประกอบการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากผู้ประกอบการแต่ละรายต่อไป
“หัวใจของระบบ FiT biding ที่จะนำมาใช้กำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือกครั้งนี้ คือเรื่องความพร้อมของวัตถุดิบและระบบสายส่งของแต่ละพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งมีวัตถุดิบในเรื่องชีวมวลมาก ก็จะดูความพร้อมของระบบสายส่งควบคู่ไปด้วย และต้องสอดคล้องกับศักยภาพการผลิตด้วย โดยการนำระบบนี้มาใช้จะสร้างความยุติธรรมให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น จากเดิมที่จะใช้ระบบAdder ซึ่งเป็นรูปแบบใครยื่นเจตจำนงก่อนก็ได้สร้างก่อน ซึ่งไม่มีความชัดเจน แต่การกำหนดโซนนิ่งและดูระบบสายส่งแต่ละพื้นที่ จะทำให้เกิดการแข่งขันและสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย” นายทวารัฐกล่าว
นายทวารัฐ กล่าวเพิ่มว่า ในการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มขยะนั้น จะมีการเตรียมโปรแกรมการส่งเสริม และคัดเลือกโครงการในรูปแบบที่เหมาะสมต่างออกไป ในกรณีของการส่งเสริมขยะชุมชนเพื่อผลิตพลังงาน จะปรับให้สอดคล้องและบูรณาการร่วมกับกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และในกรณีของขยะอุตสาหกรรม ก็จะปรับให้รองรับกับแผนการส่งเสริมของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งผลักดันแผนดังกล่าว และเชื่อว่าจะสรุปผลได้เร็ว ๆ นี้
จากกรณีที่แหล่งก๊าซธรรมชาติพื้นที่พัฒนาร่วมไทย–มาเลเซีย (เจดีเอ–เอ 18) จะมีการหยุดซ่อมบำรุงประจำปี ในช่วงวันที่ 19-23 กรกฎาคม 2558 นายทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวให้ประชาชน ภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจท่องเที่ยว ในพื้นที่ภาคใต้ได้ทราบเพื่อเตรียมพร้อมในการจัดการใช้พลังงานในช่วงดังกล่าวเนื่องจากก๊าซธรรมชาติจะหายไปจากระบบประมาณ 420 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งกระทบกับโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 จ.สงขลา กำลังการผลิตไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์