พุทธ คริสต์ อิสลาม จับมือรณรงค์ “ศาสนสถานปลอดบุหรี่ทั่วประเทศ”

14 Jan 2015
3 ผู้นำศาสนา พุทธ คริสต์ อิสลาม ประกาศจับมือสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมรณรงค์ “ศาสนสถานปลอดบุหรี่ทั่วประเทศ” ชี้กฎหมายระบุชัดฝ่าฝืนสูบในวัด โบสถ์ และมัสยิด ถูกจับปรับทันที วอนประชาชนทั่วประเทศอย่าสร้างบาปทำบุญด้วยบุหรี่ ประเดิมนำร่อง 3 ศาสนสถานชื่อดัง “วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร” วัดเจ้าของรางวัลยูเนสโก้ด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม โบสถ์ซางตาครู้ส และมัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว) ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ (สคสบ.) พบว่าอัตราการสูบบุหรี่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากมาตรการในการควบคุมยาสูบยังอยู่ในวงจำกัด เมื่อเทียบกับมาตรการเชิงรุกและรุนแรงของอุตสาหกรรมยาสูบ ดังนั้น สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติฯ จึงมีมาตรการเชิงรุกโดยจับมือกับพันธมิตรเครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ เพื่อลดอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยให้เหลือเพียงร้อยละ 15 ในปี 2568 ตามเป้าหมายการลดปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคไม่ติดต่อขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศสมาชิกทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยได้มีมติร่วมกัน และปี 2558 ได้มีนโยบายเชิงรุกจับมือกับผู้นำ 3 ศาสนา พุทธ คริสต์ และอิสลาม ให้สังคมไทยปลอดบุหรี่

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ เลขาธิการ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เปิดเผยว่า สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติฯ ได้ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และผู้นำศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม จัดโครงการ “ศาสนสถานปลอดบุหรี่ทั่วประเทศ” นำร่องด้วยศาสนสถานชื่อดัง 3 แห่งคือ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เจ้าของรางวัลยูเนสโก้ ด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ปี 2556 โบสถ์ซางตาครู้ส และมัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว)

“เป้าหมายการสร้างศาสนสถานปลอดบุหรี่ทั่วประเทศก็เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศ และศาสนสถานทุกแห่งรับรู้ว่า บุหรี่ก่อให้เกิดพิษภัยทั้งต่อตัวผู้สูบและผู้อื่น จึงมีกฎหมายเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบ และมีบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 19 พ.ศ. 2553 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2553 มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2553 โดยประกาศฉบับนี้เป็นการกำหนดให้ศาสนสถานเป็นหนึ่งในสถานที่ห้ามสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด ผู้ฝ่าฝืนจะถูกจับหรือมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาททันที” ศ.นพ.รณชัย กล่าวและให้รายละเอียดว่า

สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติฯ มูลนิธิฯ และวัดประยุรฯ จะเป็นศูนย์รวมของเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นหัวหอกชี้นำให้เกิดความรู้ให้ศาสนสถานทุกแห่งทั่วประเทศเป็นเขตปลอดบุหรี่ ทั้งนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขที่จะให้กลุ่มอาสาสมัคร (อสม.) นับแสนคนทั่วประเทศ เป็นฝ่ายสนับสนุนและออกเยี่ยมเยียนวัด โบสถ์ และมัสยิด ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้ศาสนสถานทั่วประเทศเป็นเขตปลอดบุหรี่อย่างแท้จริง

ศ.ดร.พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กล่าวว่า ทางวัดพร้อมให้ความร่วมมือกับสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติฯ และมูลนิธิฯ รณรงค์ให้ศาสนสถานทั่วประเทศปลอดบุหรี่ โดยในส่วนของวัดประยุรฯ นอกจากจะให้ความรู้แล้ว ยังจะร่วมเผยแพร่โครงการนี้แก่วัดอื่นอย่างจริงจังอีกด้วย ทั้งนี้เพราะศาสนสถานเป็นสาธารณ

สถานที่ประชาชนจำนวนมากมาประกอบกิจกรรมทางศาสนา ซึ่งเหมาะกับการเป็นสถานที่ส่งเสริมสุขภาพกายใจให้ปลอดจากสิ่งเสพติดทั้งหลาย และพระสงฆ์ก็เป็นผู้นำทางความคิดและเป็นที่นับถือแก่ศาสนิกชน จึงควรปฏิตนเป็นตัวอย่างที่ดี นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือจากพุทธศาสนิกชนทั้งหลายไม่ควรถวายปัจจัยบุหรี่แก่พระภิกษุสงฆ์อีกด้วย

บุหรี่เป็นสิ่งเสพติดที่มีผู้เสพติดมากที่สุดของโลก โดยทั่วโลกมีผู้เสพติดบุหรี่ 1,300 ล้านคน ในแต่ละปีมีชาวโลกเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 5.4 ล้านคน วันละ 14,794 คน ชั่วโมงละ 616 คน นาทีละ 10 คน ในแต่ละปีคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 50,710 คน วันละ 139 คน ชั่วโมงละ 5.7 คน โดยอายุเฉลี่ยของคนไทยที่เริ่มเสพติดบุหรี่คือ 18 ปี และการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดโรคมะเร็ง