ลำดับเหตุการณ์ เหตุแห่งปัญหา กองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.) กับ มาตรา ๔๐ กองทุนประกันสังคม

16 Jan 2015
โดย ดร.นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์)

ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางปฏิรูปกองทุนประกันสังคม

จากการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ประกันตนมาตรา ๔๐ สำนักงานประกันสังคม พบว่า มีลำดับเหตุการณ์ที่ประชาชนควรทราบโดยรัฐบาลในอดีตเป็นผู้ที่ก่อเกิดขึ้น แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันมาช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชน ดังนี้พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๕๔ ได้มีกระแสเรียกร้องของประชาชนจำนวนมากให้ขยายประกันสังคมครอบคลุมไปยังประชาชนแรงงานนอกระบบ เช่น เกษตรกร รับจ้างทั่วไป อาชีพอิสระ เป็นต้น

เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์โดยกระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคม ได้ริเริ่มโครงการคุ้มครองแรงงานนอกระบบและผู้ที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองประกันสังคมให้ได้รับการคุ้มครองโดยสมัครใจ โดยสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา ๔๐ และกำหนดอายุผู้สมัครต้องมีอายุตั้งแต่ ๑๕ – ๖๐ ปี มี ๒ ทางเลือก ได้แก่ ๑) จ่ายเงินสมทบเดือนละ ๑๐๐ บาท ได้สิทธิ ๓ กรณี คือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ และตาย ๒) จ่ายเงินสมทบเดือนละ ๑๕๐ บาท ได้สิทธิ ๔ กรณีคือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายและบำเหน็จชราภาพ โดยกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรกร รับจ้างขับยานพาหนะ รับงานไปทำที่บ้าน รวมกลุ่มทำของ OTOP ค้าขาย หาบเร่แผงลอย ช่างฝีมือ อาชีพอิสระ และผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ

ต่อมาวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๖ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอให้กระทรวงแรงงาน เร่งนำร่างพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการออมของแรงงานนอกระบบและผู้เกษียณอายุเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลสมัยนั้นขยายความคุ้มครองประกันสังคมและการออมแก่แรงงานนอกระบบเพิ่มทางเลือกที่ ๓ การออมเงินเพื่อรับบำนาญชราภาพและได้ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่๒) พ.ศ. ๒๕๕๖ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๖ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๖ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

เพิ่มเติมสิทธิกรณีบำนาญชราภาพเป็นทางเลือกที่ ๓ โดยส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละ ๒๐๐ บาท (ผู้ประกันตน ๑๐๐ บาท และรัฐบาลอุดหนุน ๑๐๐ บาท)

ในปีแรกผู้ที่อายุ ๖๐ ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน ๖๕ ปีบริบูรณ์ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ทุกทางเลือก สำหรับผู้ที่อายุเกิน ๖๕ ปีขึ้นไปสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนทางเลือกที่ ๓ เท่านั้น และให้ผู้สมัครทางเลือกที่ ๓ สามารถจ่ายเงินสมทบย้อนหลังได้ไม่เกินเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕

กำหนดให้ผู้สูงอายุเกิน ๖๐ ปีขึ้นไปสามารถเข้าสู่มาตรา ๔๐ ประกันสังคมได้ภายในระยะเวลา ๑ ปี นับจากวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๖ ถึง ๘ ธันวาคม ๒๕๕๗ เท่านั้น

จากลำดับเหตุการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นไปเพื่อส่งเสริมการออมและให้ประชาชนทุกกลุ่มมีหลักประกันในชีวิตและช่วยกันเสริมสร้างหลักประกันให้กับสังคม ตามปรัชญาของกองทุนประกันสังคมคือ “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” ไม่ใช่ต่างคนต่างเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ส่วนตัวจากกองทุน ดังนั้น ผู้สูงอายุที่เป็นคุณปู่ คุณตา คุณย่า คุณยาย ทั้งหลายคงต้องคิดไตร่ตรองให้ดีว่า จะช่วยกันรักษากองทุนเอาไว้เป็นประโยชน์ เป็นความสุขของตนเองอย่างยั่งยืนตามเจตนารมณ์การออมเงินและของเด็กๆ ของชาติในอนาคต หรือว่า จะให้เด็กๆ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า บรรพบุรุษทำลายกองทุนนี้จนไม่เหลืออะไรไว้ให้พวกเขาเลย....