“SOLAR ชี้แจงกระแสข่าวจะเสนอกพช.ให้พิจารณาเลื่อนโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในพื้นที่ราชการและสหกรณ์การเกษตร”

13 Jul 2015
ต่อประเด็นกระแสข่าวการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในเดือน ก.ค.นี้ จะเสนอกพช.ให้พิจารณาเลื่อนโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในพื้นที่ราชการและสหกรณ์การเกษตร 800 เมกะวัตต์ เนื่องจากต้องศึกษาอย่างรอบด้าน โดยจะเลื่อนเข้าระบบเป็นช่วงปี 2560-2561 และปรับกำลังการผลิตให้เหลือ 500 เมกะวัตต์

นางปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) หรือ SOLAR ขอชี้แจงต่อประเด็นข่าวดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.จะมีการเลื่อน COD ออกไปเป็นกลางปี 2560 และ 2561 : ตามราชกิจจานุเบกษาว่าด้วยการรับซื้อไฟฟ้า ลงวันที่ 13 มีนาคม 2558 โครงการ 800 MW Solar Farm สำหรับหน่วยราชการและสหกรณ์การเกษตร ระบุเรื่องการกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ( COD) ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ไว้ ดังนี้

ดังนั้น จึงไม่สามารถเลื่อนกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ไปเป็น มิถุนายน 2560 ได้ ยกเว้นแต่ว่าต้องไปผ่านมติคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขราชกิจจานุเบกษาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ง่ายที่จะให้ ครม. ให้ความเห็นชอบ เพราะการลงทุนในโครงการ 800 MW เป็นการระดมทุนจากภาคเอกชน ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 50,000 ล้านบาท และมีความพร้อมที่จะลงทุนทันทีโดยไม่ต้องใช้เงินทุนภาครัฐ ดังนั้น กระทรวงพลังงานซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจึงควรสนับสนุนให้มีการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกระจายรายได้ไปสู่ชนบททั่วประเทศโดยทันทีและยังกระตุ้นการสร้างงานโดยไม่ต้องรอรัฐบาลถัดไป (2560-2561)

2.ปัญหามาตรฐานอุตสาหกรรมไทย (มอก.) หรือ มาตรฐาน IEC : การใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ในโครงการฯ เป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างผู้ลงทุน กับ หน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร เพราะแผงเซลล์แสงอาทิตย์เป็นแผงที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 25 ปี และเป็นอุปกรณ์หลักของโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แผงเซลล์แสงอาทิตย์มีมูลค่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการลงทุน ดังนั้น ผู้ลงทุนจำเป็นต้องเลือกใช้แผงที่มีคุณภาพและสามารถเปลี่ยนแผงทดแทนได้ตลอดระยะเวลา 25 ปี

การใช้แผงฯ นำเข้าจากต่างประเทศ โดยคำนึงถึงราคาที่ถูกเพียงอย่างเดียว หน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรอาจจะไม่ได้รับผลประโยชน์จากการขายไฟฟ้าสูงสุด เนื่องจากแผงไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่และอาจทำให้เกิดปัญหาในการดูแลโรงไฟฟ้า ดังนั้นจึงควรเป็นแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ได้มาตรฐาน มอก. (มีโรงงานในประเทศไทย) และ IEC ซึ่งสามารถติดต่อโรงงานผู้ผลิตในประเทศไทยได้ตลอด 25 ปี

ปัจจุบัน ประเทศไทย มีผู้ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งมีโรงงานอยู่ในประเทศไทยและมีคุณภาพตามมาตรฐาน มอก. และมาตรฐาน IEC เพียงพอสำหรับโครงการ 800 MW ดังนั้นผู้ลงทุนและหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรจะสามารถติดต่อและใช้บริการได้ตลอด 25 ปี และยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง สร้างมูลค่าเพิ่ม ภายในประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงานและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ

3.ผู้ลงทุนสามารถลงทุนในโครงการนี้ ได้ไม่เกิน บริษัทละ 50 MW : ทาง บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) ได้จัดโครงสร้างของบริษัทลูกเพื่อรองรับไว้ถึง 5 บริษัท จึงสามารถลงทุนสูงสุดได้ถึง 250 MW