ฟาร์แมกซ์ เชื่อมั่นในศักยภาพนักศึกษาไทย ร่วมกับ มธ. นำร่องประกวดแผนจัดกิจกรรมทางการตลาดธุรกิจร้านขายยา ในหัวข้อ “Value Proposition of PHARMAX to Customer” คุณค่าของศูนย์เภสัชกรรมฟาร์แมกซ์ที่มีต่อผู้บริโภค ชิงทุนการศึกษากว่า 30,000

19 May 2015
ฟาร์แมกซ์ ศูนย์เภสัชกรรมชั้นนำ เล็งเห็นความสำคัญด้านการศึกษาในเชิงปฎิบัติจริง ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนับสนุนการประกวดแผนการจัดกิจรรม ทางการตลาดในหัวข้อ “Value Proposition of PHARMAX to Customer” คุณค่าของศูนย์เภสัชกรรมฟาร์แมกซ์ที่มีต่อผู้บริโภค ชิงทุนการศึกษากว่า 30,000 บาท เพื่อให้นักศึกษาได้นำความรู้ที่ได้เรียนในวิชามาประยุกต์ใช้และเรียนรู้การทำงานการตลาดจากการลงมือปฏิบัติจริง ในงาน ฉลองเปิด ศูนย์เภสัชกรรมชั้นนำฟาร์แมกซ์แห่งใหม่! ณ ศูนย์การค้าเดอะไนท์ พระราม 9 ภายใต้งบ 50,000 บาท

ภก.ธัชพล ชลวัฒนสกุล กรรมการบริหาร บริษัท ฟาร์แมกซ์ รีเทล จำกัด กล่าวว่า ฟาร์แมกซ์ เป็นศูนย์เภสัชกรรมชั้นนำที่ให้ความสำคัญการศึกษาอยู่แล้ว จากเดิมที่เราเป็นแหล่งฝึกงานหลักของ คณะเภสัชศาสตร์จากหลายสถาบัน โดยนักศึกษาจะต้องมาปฎิบัติงานจริงกับทางฟาร์แมกซ์ ตั้งแต่ระบบการคัดเลือก ยา เวชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมถึงการจัดเก็บ การให้คำแนะนำ และวิธีการใช้ยาที่ถูกวิธีและเรียนรู้ระบบอื่นๆ ภายในศูนย์เภสัชกรรม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเภสัชกรที่มีคุณภาพ และเล็งเห็นว่าธุรกิจร้านขายยาค่อนข้างท้าทายในการจัดกิจกรรมการตลาด ซึ่งจะทำอย่างไร เพื่อนำเสนอร้านขายยาออกมาให้สนุกอย่างสร้างสรรค์ และสามารถสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายให้เข้าใจจุดเด่นและบริการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค พร้อมกับเล็งเห็นว่าคนรุ่นใหม่มักจะมีความคิดสร้างสรรค์และวิธีการนำเสนอใหม่ๆ ที่จะทำให้วงการร้านขายยาสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น จึงได้ปรึกษากับทางอาจารย์ผู้สอนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาได้ลงมือ จัดกิจกรรมการตลาดในสถานการณ์จริง ภายใต้หัวข้อ “Value Proposition of PHARMAX to Customer” คุณค่าของศูนย์เภสัชกรรมฟาร์แมกซ์ ที่มีต่อผู้บริโภคในโอกาสฉลองเปิดสาขาใหม่ ณ. ศูนย์การค้า เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9

ด้านอาจารย์ผู้สอน ผศ.ดร.เกรียงสิน ประสงค์สุกาญจน์ ให้ข้อมูลว่า กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชา MM603 Marketing Problem and Consumer Psychology ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ในหลักสูตร ควบตรี-โททางการบัญชีและบริหารธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้ชื่อโครงการ IBMP MM603 MARKETING CHALLENGE 2015 ซึ่งการเรียนในตำราเพียงอย่างเดียวอาจทำให้นักศึกษาไม่เห็นถึงปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการเรียนในปัจจุบันจึงต้องเรียน ทั้งทฤษฎีและลงมือปฏิบัติ เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ตรงทางมหาวิทยาลัยจึงได้ร่วมกับ ศูนย์เภสัชกรรมฟาร์แมกซ์ จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา เพื่อให้นักศึกษาได้สัมผัสกับกิจกรรมทางการตลาด อย่างแท้จริง โดยมีนักศึกษาทั้งหมด 4 ทีม ได้แก่ทีม T.1,T.2,T.3 และT.4 ซึ่งแต่ละทีมได้นำเสนอแผนกิจกรรมต่อคณะกรรมจากทางมหาวิทยาลัยฯและฟาร์แมกซ์ โดยคณะกรรมการได้ทำการคัดเลือกทีมที่สามารถสื่อสารถึงแบรนด์ที่องค์กรต้องการ และสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งสามารถสร้างความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงแสดงรายละเอียดแผนงานได้ชัดเจนและอยู่ภายใต้งบประมาณที่เหมาะสม

โดยทีมที่ได้รับคัดเลือกคือ ทีม T.4 ซึ่งสามารถนำเสนอแผนงานได้โดดเด่นกว่าทีมอื่นๆและอยู่ภายใต้เกณฑ์การตัดสินที่กำหนดไว้ โดยสามารถถ่ายทอดจุดเด่นของฟาร์แมกซ์ผ่านตัวอักษรของคำว่า “CARE” ซึ่งทั้ง 4 ตัวอักษรสื่อถึงบริการต่างๆ ของฟาร์แมกซ์ อย่างไรก็ตามทีมอื่นๆ ก็สามารถนำเสนอจุดเด่นที่น่าสนใจและนำเสนอแผนได้ดีเช่นกัน ดังนั้นทางคณะกรรมการจึงมีความเห็นให้นักศึกษาทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมภายในงาน โดยนำกิจกรรมเด่นๆ มาประยุกต์เพื่อให้เข้ากับแนวคิดหลักของทีมผู้ชนะ เพื่อให้เกิดกิจกรรมที่หลากหลายและสนุก และให้นักศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมและได้ลงมือปฎิบัติจริงทุกคน ผศ.ดร.เกรียงสิน กล่าวเสริม

นางสาวภัสสราณัฐ รวยธนาสมบัติ ตัวแทนนักศึกษาของทีมที่ได้รับคัดเลือก เล่าถึงโครงการดังกล่าวว่า จากโจทย์ในการจัดกิจกรรมภายในหัวข้อ “Value Proposition of PHARMAX to Customer” คุณค่าของศูนย์เภสัชกรรมฟาร์แมกซ์ที่มีต่อผู้บริโภค และจากสโลแกนที่ว่า “ศูนย์เภสัชกรรมโดยเภสัชกรเต็มเวลา” จึงทำให้ทางทีมได้ที่มาของแนวคิดหลักในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ นั่นคือ คำว่า CARE ซึ่งตัวอักษรแต่ละตัวอักษรมีความหมายที่สื่อบริการของฟาร์แมกซ์ผ่านกิจกรรม ภายในงานดังนี้ C- Comfortable (ความสะดวกสบายทั้งกายและใจ) A-Accurate (ความถูกต้องแม่นยำ) R- Realized (การตระหนักถึงความสำคัญ) E- Educated (การให้ความรู้)

โดยกิจกรรมแต่ละกิจกรรมจะสื่อสารให้เห็นถึงแต่ละความหมายของคำศัพท์ ที่สื่อถึงบริการของฟาร์แมกซ์ที่มอบให้กับผู้บริโภคจริงๆ โดยแบ่งกิจกรรมหลักภายในงานออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

1.กิจกรรม Photo Booth คือตัวแทนของคำ Comfortable ซึ่งจะนำเสนอว่า เพราะฟาร์แมกซ์อบอุ่นเหมือนบ้าน กิจกรรมการถ่ายรูปสื่อถึงการเก็บความทรงจำดีๆกับคนที่เรารัก และซุ้มกิจกรรมถ่ายภาพของฟาร์แมกซ์จะให้บรรยากาศที่สื่อถึงความเป็นกันเอง อบอุ่น และน่าเก็บภาพแห่งความประทับใจ

2.กิจกรรม Interactive Game คือตัวแทนของคำ Accurate ซึ่งจะนำเสนอว่าเพราะฟาร์แมกซ์มีมาตรฐานในการจ่ายยาโดยเภสัชกรเท่านั้นตลอดเวลาทำการ โดยเนื้อหาในเกมส์ที่จะถ่ายทอดให้เห็นว่าเภสัชกรของ ฟาร์แมกซ์นั้นจ่ายแต่ยาคุณภาพและเหมาะสมกับโรค

3.กิจกรรม Plinko คือตัวแทนของคำ Realized ซึ่งจะนำเสนอว่า เพราะฟาร์แมกซ์ตระหนักถึงความปลอดภัย โดยนำเสนอผ่านเกมส์ลูกบอล ซึ่งลูกบอลแต่ละลูกจะถูกดีไซน์เป็นรูปเม็ดยา และเมื่อหยอดเม็ดยาลงไปในช่องฟาร์แมกซ์ ผู้เล่นเกมส์จะได้รับรางวัล ซึ่งใต้คำว่าฟาร์แมกซ์จะมีคำบรรยายคุณประโยชน์ที่สำคัญของการจ่ายยาโดยเภสัชกรที่เป็นจุดเด่นของฟาร์แมกซ์ไว้ เพื่อสร้างการรับรู้และการจดจำให้กับผู้บริโภค

4.กิจกรรม Pill Tablet คือตัวแทนของคำว่า Educated ซึ่งจะนำเสนอว่าฟาร์แมกซ์ เป็นศูนย์เภสัชกรรมชั้นนำที่มีเภสัชกรให้คำแนะนำและจ่ายยาแบบเต็มเวลาทำการ แนะนำวิธีการใช้ยาอย่างถูกต้อง กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมสำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษาด้านการใช้ยา หรือขอคำแนะนำเกี่ยวกับการบริโภคยาอย่างถูกต้องจากเภสัชกรนั่นเอง

ซี่งผู้เข้าร่วมในกิจกรรมจะสัมผัสได้ถึงความห่วงใยและการดูแลเอาใจใส่จากทีมงานฟาร์แมกซ์ ทุกท่าน นอกจากนี้ทุกกิจกรรมจะมีการนำเสนอจุดเด่นของฟาร์แมกซ์ ตามสโลแกนที่ว่า “ศูนย์เภสัชกรรมโดยเภสัชกรเต็มเวลา” ผ่านตัวการ์ตูนเภสัชกร “ พี่ใส่ใจ” ที่จะอยู่ในทุกซุ้มกิจกรรม

นอกจากนี้ตัวแทนนักศึกษาได้บอกเล่าประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมการตลาดในครั้งนี้ว่า “การได้ปฏิบัติงานจริงร่วมกับเพื่อนๆ เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในห้องเรียน การเรียนจากตำราเป็นเรื่องที่สนุก เป็นภาพที่สวยหรู ที่ฟังเหมือนง่าย ใครๆ ก็ทำได้ แต่การปฏิบัติงานจริง คือ เราจะเห็นภาพเบื้องหลังทั้งหมด ซึ่งอาจไม่ได้ง่าย เหมือนภาพเบื้องหน้าที่เห็น และความสามัคคีในทีมถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถึงแม้จะมีคนเก่งๆขึ้นเป็นผู้นำทีมแต่หากไม่มีทีมที่คอยให้ความช่วยเหลือและให้ความร่วมมือ การจัดงานครั้งนี้คงไม่ประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้การได้ปฏิบัติงานจริงยังสอนให้เกิดไหวพริบในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ จากการลงมือปฎิบัติจริง ดังนั้นการจัดกิจกรรมครั้งนี้เปรียบเสมือนการลงสนามจริง ที่จะเป็นพื้นฐานประสบการณ์สู่โลกการทำงานในอนาคต” นางสาวภัสสราณัฐ กล่าวทิ้งท้าย.