คณะนักวิจัย ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน และประชุมเชิงปฏิบัติการในการเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์ "สื่อใหม่" ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี เวทีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดศรีสะเกษ

07 May 2015
คณะนักวิจัยสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงพื้นที่ศึกษาดูงานและประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแสวงหาแนวทาง ปัจจัยเอื้ออำนวย และนวัตกรรมในการเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จาก "สื่อใหม่” ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี เวทีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดศรีสะเกษ มุ่งแสวงหาแนวทางเพื่อกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสและสร้างอาสาสมัครแกนนำถ่ายทอดความรู้ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีสู่คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในพื้นที่

เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ คณะนักวิจัยโครงการวิจัยยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี สถาบันวิจัยและให้คําปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย นางสาวพรรณราย ขันธกิจ นายนุกูล สัญฐิติเสรี นางสาววัชรา ไชยสาร นักวิจัย พร้อมคณะ ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน และประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อแสวงหาแนวทาง ปัจจัยเอื้ออำนวย และนวัตกรรมในการเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จาก "สื่อใหม่” ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี เวทีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมี นายธรรศ ธรรมฤทธิ์จากสำนักงานกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงาน กสทช. เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย ...ในภาคเช้า วันศุกร์ที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ (๐๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น.) คณะผู้วิจัยได้ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ศึกษาดูงานและประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับสาขาสมาคมผู้สูงอายุประจำจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งจากใน ๗๖ สาขาของสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยมี นายประดิษฐ์ พรหมเสนา เป็นประธานสาขาสมาคมผู้สูงอายุประจำจังหวัดศรีสะเกษ

จากนั้น คณะนักวิจัยได้ประชุมหารือและจัดเก็บข้อมูลเพื่อประกอบการวิเคราะห์เกี่ยวกับสภาแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อความสุขและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนายประดิษฐ์ พรหมเสนา ประธานสาขาสมาคมผู้สูงอายุประจำจังหวัดศรีสะเกษ และผู้แทนจากชมรมผู้สูงอายุในเครือข่ายของสาขาสมาคมผู้สูงอายุประจำจังหวัดศรีสะเกษ อาทิ นายนิคม สิงห์ดง ประธานชมรมผู้สูงอายุ อำเภออุทุมพรพิสัย, ประธานชุมชนหนองโพธิ์, ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุชุมชนหนองตะมะ,ประธาน อสม. ศูนย์สาธารณะสุข ๕, ประธานศูนย์ดูแลครูและบุคลากรทางการศึกษาและผู้สูงอายุ จังหวัดศรีสะเกษ,ชมรมข้าราชการบำนาญ ฯลฯ จำนวน ๑๙ คน โดยผู้เข้าร่วมประชุมฯ จำนวน ๑๘ คน ได้สมัครเข้าเป็นอาสาสมัครสื่อสารความรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี (งานจิตอาสา) สู่ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส เพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดสู่บุคคลกลุ่มดังกล่าวชุมชนต่อไป

ในภาคบ่าย วันศุกร์ที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ (๑๔.๐๐ – ๑๖.๐๐ น.) คณะผู้วิจัยได้เยี่ยมชมและดูงานศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ที่ อบต.โพธิ์ อำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐาน โดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation : USO) ตามภารกิจหลักของ กสทช. และได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับนายบุญมี จารุจิตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ (อบต.โพธิ์) และประธานคณะกรรมการศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน พร้อมคณะ อสม. ชุมชน โดยได้มีการหารือเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยผ่านสื่อต่างๆ ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในชุมชน และการนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการทำความเข้าใจถึงสื่อในยุคหลอมรวมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ซึ่งคณะกรรมการศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน และ อสม.ชุมชน ได้เข้าร่วมสมัครเข้าเป็นอาสาสมัครสื่อสารความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้และการเรียนรู้ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีสู่ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส (จิตอาสา) จำนวน ๑๒ คน

คณะนักวิจัย เข้าศึกษาดูงานศูนย์การเรียนรู้ชุมชน และเป็นที่ตั้งของศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนด้วย ซึ่งประสบการณ์ดำเนินงานของศูนย์ทั้งสองแห่ง จะเป็นประโยชน์ต่อโครงการวิจัยในครั้งนี้ ซึ่งทำให้สามารถรับทราบสภาพปัญหาอันแท้จริงของการเข้าถึงสื่อใหม่ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในชุมชน เพื่อนำมาวิเคราะห์หาแนวทางการพัฒนา คุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสของชุมชนในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี

ในภาคค่ำ วันอาทิตย์ที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ (๑๘.๐๐ – ๒๑.๓๐ น.) คณะนักวิจัย นำโดย นายนุกูล สัญฐิติเสรี พร้อมคณะ ได้เข้าสัมภาษณ์และประชุมหารือกับคุณเกตอรอินท์ พิทักษ์โคชญากุล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดศรีสะเกษ, คุณจันที สมนา นักสังคงสงเคราะห์ชำนาญการ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) จังหวัดศรีษะเกษ คุณทัศไนย หริรักษ์ ประธานชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกจังหวัดศรีสะเกษ และนางสาวจันจิรา สีลับสี ครูศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดศรีสะเกษ โดยทุกท่านได้ร่วมกันให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยในครั้งนี้

ต่อมาในภาคเช้า วันจันทร์ที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ (๐๘.๓๐ – ๑๒.๐๐ น.) คณะนักวิจัย นำโดย นายนุกูล สัญฐิติเสรี พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ ศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดศรีสะเกษ โดยมี คุณเกตอรอินท์ พิทักษ์โคชญากุล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดศรีสะเกษ เป็นผู้นำเยี่ยมชมการทำงานของคณะครูและเจ้าหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กพิการของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดศรีสะเกษ ทั้งนี้ คณะนักวิจัย จะนำข้อมูลต่างที่ได้รับมาประกอบการวางแนวทางการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีต่อไป

ผลการลงพื้นที่ศึกษาดูงาน สัมภาษณ์ และประชุมเชิงปฏิบัติการฯ เวทีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดศรีสะเกษ ในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง มีผู้แทนองค์กรคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส เข้าร่วมสัมภาษณ์ ประชุมเชิงปฏิบัติการ และสมัครเข้าเป็นอาสาสมัครแกนนำถ่ายทอดความรู้ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีสู่คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในพื้นที่ จำนวนกว่า ๒๕ คน และมีข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทาง ปัจจัยเอื้ออำนวย และนวัตกรรมในการเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จาก "สื่อใหม่” ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ซึ่งคณะผู้วิจัย จะได้นำไปประมวล วิเคราะห์ สังเคราะห์เพื่อกำหนดเป็นแนวยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ต่อไป

สำหรับท่านที่สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวทาง ปัจจัยเอื้ออำนวย และนวัตกรรมในการเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จาก "สื่อใหม่” ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี หรือแนวทางการวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี สามารถแสดงร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทางเว็บไซต์ www.convergencebtfpfund.net