โครงการฟื้นฟูป่าเชิงนิเวศสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

10 Jun 2015
ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กรมป่าไม้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริษัท ปตท .สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

กรมป่าไม้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัท ปตท .สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยและให้แนวพระราชดำริ ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสภาพแวดล้อมในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า จึงได้ร่วมกันจัดทำ “โครงการฟื้นฟูป่าเชิงนิเวศสวนศรีนครเขื่อนขันธ์” ตามแนวพระราชดำริขึ้นเพื่อสนองแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2556 ด้วยการฟื้นฟูโครงสร้างป่าเดิมที่ปลูกไปแล้ว และปลูกฟื้นฟูระบบนิเวศให้มีโครงสร้างป่าที่แข็งแรง มีชนิดพันธุ์และจำนวนต้นไม้ที่สอดคล้องกับลักษณะสังคมธรรมชาติพืชดั้งเดิมของพื้นที่ รวมทั้งการเสริมสร้างและพัฒนารูปแบบ และกิจกรรมการศึกษาเรียนรู้เชิงนิเวศที่เชื่อมโยงระหว่างแหล่งศึกษาเรียนรู้ในสวนศรีนครเขื่อนขันธ์และชุมชนในเกาะกระเพาะหมูนครเขื่อนขันธ์ให้เกิดความยั่งยืนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ การเสริมสร้างจิตสำนึก การให้ความรู้ และการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ผืนป่าให้ยั่งยืนต่อไป

วัตถุประสงค์

  • เพื่อถวายการฟื้นฟูป่าเชิงนิเวศและแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศสวนศรีนครเขื่อนขันธ์แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • เพื่อฟื้นฟูป่าเชิงนิเวศสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

เป้าหมาย

  • ปลูกฟื้นฟูป่าเชิงนิเวศสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 40 ไร่
  • ปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ป้ายสื่อความหมายธรรมชาติ และนิทรรศการกลางแจ้งในแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศ ปรับปรุงป้ายความรู้ ปรับปรุงสะพาน จุดบริการห้องเรียนธรรมชาติ และปรับปรุงภูมิทัศน์ในสวนสาธารณะสวนศรีนครเขื่อนขันธ์
  • เสริมสร้างและพัฒนารูปแบบ กิจกรรม และการจัดการ การเรียนรู้เชิงนิเวศสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ให้เชื่อมโยงกับการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชนนครเขื่อนขันธ์ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน
  • จัดทำแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สีเขียวคุ้งบางกะเจ้าสู่ความยั่งยืน (Master Plan)

พื้นที่ดำเนินการ

  • สวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติ “ศรีนครเขื่อนขันธ์” ตำบลบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการแนวทางการดำเนินงาน
  • ศึกษา รูปแบบ วิธีการปลูก การฟื้นฟู ดำเนินการปลูกป่า การฟื้นฟู และบำรุงรักษาป่าเชิงนิเวศ ตลอดจนการเจริญเติบโตของต้นไม้และการฟื้นคืนระบบนิเวศ และการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์
  • ปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ป้ายสื่อความหมายธรรมชาติ นิทรรศการกลางแจ้ง และการพัฒนาบุคลากร
  • ประสานงานคณะกรรมการบริหารจัดการศูนย์จัดการพื้นที่สีเขียวเชิงนิเวศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • ติดตามการมีส่วนร่วมของชุมชน การเสริมสร้างการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชุมชนนครเขื่อนขันธ์
  • ศึกษาแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สีเขียวคุ้งบางกะเจ้าสู่ความยั่งยืน (Master Plan)

ระยะเวลา

ระยะเวลา 8 ปี ตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 – เดือนสิงหาคม 2563

การฟื้นฟูป่าเชิงนิเวศ 40 ไร่

  • การฟื้นฟูป่าเชิงนิเวศในพื้นที่ 40 ไร่ ครอบคลุมตั้งแต่การลอกร่องและกำจัดวัชพืช และปลูกฟื้นฟูและบำรุงรักษาแปลงปลูกป่าสาธิต 3 แปลง คือ ป่าดิบลุ่มต่ำ ป่าบึงชุ่มน้ำ และป่าชายเลน โดยเลือกชนิดพันธุ์ไม้ดั้งเดิมที่เหมาะสมกับพื้นที่ ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าฟื้นฟูนี้เห็นได้จากพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่พบนับร้อยชนิด ซึ่งแสดงว่าที่นี่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัย (Habitat) ที่เหมาะสม เป็นทั้งแหล่งอาหาร (Feeding Ground) แหล่งทำรังวางไข่ (Spawning Ground) และแหล่งหลบภัยของสัตว์นานาชนิด ที่นี่จึงเปรียบเสมือนการจำลองระบบนิเวศที่สามารถพบได้ในคุ้งบางกะเจ้า

เส้นทางศึกษาธรรมชาติ

  • เส้นทางศึกษาธรรมชาติในโครงการประกอบด้วยจุดสื่อความหมายธรรมชาติธรรมชาติซึ่งจะนำเสนอเรื่องราวอธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างการสร้างสรรค์ของธรรมชาติ (Nature Design) กับความสัมพันธ์ในระบบนิเวศ ผ่านเทคนิคการนำเสนอในแบบของการตีความธรรมชาติ ด้วยรูปแบบ และเรื่องราวที่น่าสนใจ ชวนติดตาม เพื่อให้ผู้อ่านได้เรียนรู้และเกิดความรู้สึกซาบซึ้งกับธรรมชาติ

เส้นทางสำหรับจักรยาน (เส้นทางป่าสามยุค) มีระยะทางรวม 2.2 กม. จุดสื่อความหมายธรรมชาติที่น่าสนใจ ได้แก่

  • ดงจาก: ส่วนหนึ่งในระบบนิเวศน้ำกร่อย ซึ่งเกิดขึ้นบริเวณรอยต่อระหว่างแม่น้ำกับทะเลที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้น-น้ำลง
  • วิถีชีวิตริมบึง: บึงน้ำกร่อยที่มีน้ำท่วมขังตลอดเวลา พืชบกและพืชน้ำจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และยังเป็นบ้านและแหล่งอาศัยหากินของสัตว์นานาชนิด
  • นก สุดยอดพนักงานบำรุงป่า - สวนศรีนครเขื่อนขันธ์มีนกเกือบ 100 ชนิด คิดเป็น 1 ใน 10 ของนกที่พบในเมืองไทย
  • ลำพู บ้านหิ่งห้อย - หิ่งห้อยชอบเกาะต้นลำพู เพราะลักษณะเรือนยอดที่สูงโปร่งของต้นลำพู ทำให้แสงไฟของหิ่งห้อยเพศผู้มองเห็นได้ไกล ดึงดูดตัวเมียเข้ามาผสมพันธุ์
  • ป่าบึงชุ่มน้ำ – ซึ่งเกิดจากพื้นที่ลุ่มน้ำขังในฤดูฝน พันธุ์ไม้เด่น ได้แก่ ลำดวน หว้า กันเกรา แคน้ำ ชำมะเลียง ไข่เน่า เป็นต้น??
  • ป่าชายเลนน้ำกร่อย– บริเวณปากแม่น้ำที่มีน้ำขึ้นลง ต้นไม้หลักที่พบมาก คือ ลำพู จาก ปรงทะเล และหวายลิง
  • ป่าดิบลุ่มต่ำ –ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ต่าง ๆ เช่น ตะเคียนทอง ยางนา พะยอม ลำดวน มะเกลือ หว้า กันเกรา มะม่วง แคนา จันทน์หอม จำปา มะพลับ อบเชย มะกล่ำต้น และเลือดควาย

เส้นทางสำหรับผู้ใช้รถเข็นและผู้สูงอายุ (เส้นทางธรรมชาติทรงคุณค่าสวนศรีนครเขื่อนขันธ์) มีระยะทางรวม 500 ม. จุดสื่อความหมายธรรมชาติที่น่าสนใจ ได้แก่

  • นนทรี: สมุนไพรดอกเหลือง - เติบโตได้ในป่าชายเลนน้ำกร่อยที่น้ำท่วม
  • เต่าร้าง: ทลายสุดท้ายสิ้นชีวิต - เป็นปาล์มอายุสั้นเมื่อออกผลจนมาถึงโคนต้นก็จะตาย
  • ไทรย้อยใบทู่: สุดยอดรากค้ำยัน - พบได้ทั่วไปตามริมน้ำและคลองน้ำกร่อย?
  • บึงน้ำ: ผิวน้ำนิ่งสงบ ใต้ท้องน้ำคึกคัก - บึงน้ำนี้มีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋วที่เรียกว่า “แพลงก์ตอนพืช” อาศัยอยู่กว่า 10 ชนิด
  • ดงปลาสวย - บึงน้ำนี้เป็นที่อาศัยของปลาสวยงามหลากหลายพันธุ์ เช่น รูปร่างคล้ายลูกศร ริบบิ้น กระสวย มนกลม แบนข้าง หรือจันทร์เสี้ยว?

บรรยายภาพ