ส.อ.ท. ผนึกกำลัง กระทรวงพลังงาน ส่งเสริมธุรกิจและกระตุ้นตลาดการอนุรักษ์พลังงาน โดยกลไกบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO ปีที่ 8)

12 Jun 2015
สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผนึกกำลัง กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ร่วมพิธีลงนามสัญญา “โครงการส่งเสริมธุรกิจและกระตุ้นตลาดการอนุรักษ์พลังงานโดยกลไกบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO ปีที่ 8)” เมื่อวันพุธที่ 10 มิถุนายน 2558 ณ Meeting Room 4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อกระตุ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการพัฒนาและส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันทางการตลาดของประเทศต่อไป

นายดนัย เอกกมล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำนโยบายและแนวทางเพื่อกำกับดูแล ส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง โดยดำเนินการภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงานระยะ 20 ปี (ปี พ.ศ. 2554 - 2573) ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้มีค่าดัชนีการใช้พลังงานรวมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ณ ปี พ.ศ. 2573 ลดลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 25 โดย มาตรการสำคัญมาตรการหนึ่ง ที่ พพ. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังานด้วยกลไกบริษัทจัดการพลังาน (ESCO) โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการในหลายๆ ด้าน เช่น การสร้างมาตรฐานในการปฏิบัติงาน การจัดกิจกรรมกระตุ้นและส่งเสริมตลาดในธุรกิจ ESCO การพัฒนาศักยภาพและให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ซึ่งผลการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานด้วยกลไก ESCO ในช่วงปี พ.ศ. 2552 -2557 ที่ผ่านมา สามารถผลักดันให้เกิดการสัญญาลงทุนโครงการอนุรักษ์พลังงานด้วยกลไก ESCO ได้ถึง 379 โครงการ โดยมีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 19,615 ล้านบาท และก่อให้เกิดผลประหยัดพลังงานได้เป็นมูลค่ากว่า 4,195 ล้านบาท/ปี นอกจากนี้ สามารถผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการที่ให้บริการ ESCO ที่มีขึ้นทะเบียนไว้กับสภาอุตสาหกรรมได้ถึง 59 ราย ทั้งนี้ หากนับเฉพาะผลล่าสุดที่เกิดขึ้นในปี 2557 ที่ผ่านมา สามารถผลักดันโครงการ ESCO ได้ราว 67 โครงการ ก่อให้เกิดการลงทุนทั้งสิ้นกว่า 3,700 ล้านบาท และมีผลประหยัดพลังงานรวมกันประมาณ 670 ล้านบาทต่อปี

จากความสำเร็จที่ผ่านมา พพ. จึงยังคงเดินหน้าให้การสนับสนุนและผลักดันธุรกิจ ESCO อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 โดยการดำเนินงานภายใต้โครงการส่งเสริมธุรกิจและกระตุ้นตลาดการอนุรักษ์พลังงานโดยกลไกบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) โดยมุ่งเน้นให้มีการยกระดับความเป็นมืออาชีพและมาตรฐานการให้บริการของบริษัท ESCO ให้เพิ่มสูงขึ้นสำหรับกลุ่มเป้าหมายเดิม รวมถึงเพิ่มการขยายผลการดำเนินโครงการ ESCO ไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มผู้ประกอบการ SME ที่มีการใช้พลังงานค่อนข้างสูง รวมทั้งกลุ่มอาคารของหน่วยงานภาครัฐที่มีศักยภาพในการอนุรักษ์พลังงานและมีความสามารถในการจัดหางบประมาณลงทุนบางส่วนได้ด้วยตนเอง เช่น โรงพยาบาล และมหาวิทยาลัย เป็นต้น โดย พพ. ได้มีมาตรการเสริมในการสนับสนุนด้านการลงทุนสำหรับโครงการ ESCO เป็นการเฉพาะ ซึ่งได้แก่ โครงการส่งเสริมการลงทุนผ่านทาง ESCO Revolving Fund โดยจะมีวงเงินส่งเสริมการลงทุน 500 ล้านบาท เพื่อไปส่งเสริมการลงทุนในโครงการ ESCO ควบคู่กันไปด้วย

“โครงการส่งเสริมธุรกิจและกระตุ้นตลาดการอนุรักษ์พลังงานโดยกลไกบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO ปีที่ 8) จะเป็นตัวกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการพัฒนาและส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันทางการตลาดของประเทศต่อไป” นายดนัย กล่าว

นายหิน นววงศ์ รองประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมฯ จะส่งเสริมให้เกิดการดำเนินการอนุรักษ์พลังงานโดยอาศัยกลไก ESCO ให้สอดคล้องและเป็นไปตามแนวยุทธศาสตร์หลักของกระทรวงพลังงาน ที่ได้กำหนดไว้ โดยในปีนี้จะเน้นให้ความสำคัญ 2 ด้าน คือ

1.สร้างความเชื่อมั่นและงานกระตุ้นขยายตลาดการอนุรักษ์พลังงานโดยกลไก ESCO โดยจัดกิจกรรมกระตุ้นขยายตลาดธุรกิจ ESCO ผ่านกิจกรรมสัมมนาใหญ่ Thailand ESCO Fair ซึ่งจะจัดขึ้นเร็ว ๆ นี้ ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 ณ ห้องบอลรูม โซนเอ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และยังมีกิจกรรม ESCO Forum สำหรับผู้บริหาร และ ESCO Business Matching ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และภูมิภาค การสร้างและขยายเครือข่ายในการส่งเสริมการลงทุนโครงการอนุรักษ์พลังงานแบบ ESCO ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงระบบการให้บริการด้านข้อมูลของบริษัทจัดการพลังงาน และรวบรวมข้อมูลและติดตามผลข้อมูลการอนุรักษ์จริงจากการดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงานโดยกลไก ESCO โดยพัฒนาระบบหรือแนวทางในการรวบรวมติดตามข้อมูลดังกล่าวที่สามารถใช้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

2. การพัฒนามาตรฐานการดำเนินงานและความเป็นมืออาชีพสำหรับบริษัทจัดการพลังงาน พัฒนาแนวทางตรวจวัดและพิสูจน์ผลการประหยัดพลังงาน (M&V) ที่เหมาะสมสำหรับโครงการอนุรักษ์พลังงานแบบ ESCO ของประเทศไทยและมาตรฐานการทำงาน (Code of Practice) เพื่อให้เกิดการใช้กลไก ESCO อนุรักษ์พลังงานในสถานประกอบการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยในอนุรักษ์พลังงานให้ประเทศและดำเนินตามยุทธศาสตร์แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี

ด้านนายอาทิตย์ เวชกิจ นายกสมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย กล่าวว่า ในปี 2555 ได้มีการก่อตั้งสมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทยเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา เพื่อให้สมาคมฯ ได้มีบทบาทในการส่งเสริมและผลักดันธุรกิจ ESCO ร่วมกับสถาบันพลังงานฯ สภาอุตสาหกรรมฯ โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพของ ESCO ในประเทศไทย สำหรับปีนี้ สมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย จะร่วมมือกับสถาบันพลังงานฯ สภาอุตสาหกรรมฯ ในการพัฒนามาตรฐานการดำเนินงานและความเป็นมืออาชีพสำหรับบริษัทจัดการพลังงาน เพื่อให้สถานประกอบการเชื่อมั่นในผลสำเร็จของการอนุรักษ์โดยใช้กลไก ESCO