กปภ.เคลียร์ชัดน้ำประปาปลอดภัยใช้หุงข้าวได้

08 Jan 2016
การประปาส่วนภูมิภาค( กปภ.) ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีสื่อออนไลน์ส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายจากการใช้น้ำประปาหุงข้าว ย้ำชัดการผลิตน้ำประปาผ่านการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพน้ำตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลก คลอรีนคงเหลือในน้ำประปาไม่เป็นอันตรายใช้ประกอบอาหารได้

นางรัตนา กิจวรรณ ผู้ว่าการ กปภ. เปิดเผยว่า ตามที่มีการส่งต่อข้อมูลในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับอันตรายจากการใช้น้ำประปาหุงข้าว เนื่องจากคลอรีนในน้ำประปาทำปฏิกิริยากับสารอินทรีย์ หรือ ข้าว เมื่อได้รับความร้อนจะเปลี่ยนเป็นสารไตรฮาโลมีเทนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งนั้น กปภ.ขอยืนยันว่าน้ำประปาปลอดภัยใช้หุงข้าวได้ แม้ว่าการเกิดสารไตรฮาโลมีเทนจะเกิดขึ้นจากคลอรีนทำปฏิกิริยากับสารอินทรีย์ในน้ำแล้วยังขึ้นกับอีกหลายปัจจัย เช่น ปริมาณคลอรีนอิสระ ความเป็นกรด-ด่าง อุณหภูมิ และชนิดสารอินทรีย์โดยเฉพาะกลุ่มกรดฮิวมิก กรดฟุลวิกในน้ำเป็นหลัก ที่สำคัญกระบวนการผลิตน้ำประปาแม้ว่าในน้ำดิบที่นำมาผลิตจะมีสารอินทรีย์ปะปนอยู่บ้าง เมื่อเข้าสู่ระบบผลิตน้ำประปาที่มีขั้นตอนการปรับปรุงคุณภาพน้ำดิบ การตกตะกอน และการกรองแล้ว ปริมาณสารอินทรีย์จะถูกกำจัดออกไปได้มาก จึงเหลือมาทำปฏิกิริยากับคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำน้อยมาก โดย กปภ.ได้ควบคุมปริมาณคลอรีนอิสระคงเหลือสำหรับฆ่าเชื้อโรคในน้ำ ณ สถานีผลิตน้ำ ให้มีค่าอยู่ในช่วง 1.0 - 1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร และเมื่อน้ำประปาเข้าสู่เส้นท่อในระบบจ่ายน้ำ คลอรีนอิสระคงเหลือจะยังช่วยกำจัดเชื้อโรคอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยลดลงจนถึงผู้ใช้น้ำในปริมาณที่มีการควบคุมให้มีค่าประมาณ 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร สำหรับข้าวสารหรือแป้งชนิดต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหาร จัดอยู่ในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตโมเลกุลขนาดใหญ่จึงทำปฏิกิริยากับคลอรีนอิสระได้ช้ามาก เมื่อเทียบกับสารอินทรีย์ชนิดอื่น ๆ ยิ่งไปกว่านั้นคลอรีนอิสระคงเหลือและไตรฮาโลมีเทนในน้ำจะระเหยออกได้ง่ายมากเมื่อสัมผัสอากาศหรือความร้อนจากการหุงต้ม คลอรีนจึงแทบไม่เหลืออยู่ในน้ำเลย ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดสารไตรฮาโลมีเทนเนื่องจากการนำน้ำประปาที่มีคลอรีนมาใช้ประกอบอาหารจึงน้อยมาก ๆ อีกทั้ง กปภ.มีการทดสอบหาปริมาณไตรฮาโลมีเทนควบคู่กับคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำประปาอยู่เป็นประจำพบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) กำหนด จึงวางใจได้ว่าน้ำประปาปลอดภัยต่อการอุปโภคและบริโภค

นางพวงทอง วังส์ด่าน ผู้อำนวยการกองควบคุมคุณภาพน้ำ กล่าวเพิ่มเติมว่า กปภ.มีกระบวนการผลิตน้ำประปาที่ได้มาตรฐานทุกขั้นตอนตั้งแต่ระบบน้ำดิบจนถึงระบบจ่ายน้ำประปาตามแผนการจัดการน้ำให้ปลอดภัย ขอให้ผู้ใช้น้ำมั่นใจได้ว่าสามารถนำน้ำประปามาใช้ประกอบอาหารได้อย่างสบายใจและควรใช้น้ำเท่าที่จำเป็นอย่างประหยัด อย่างไรก็ตาม หากผู้ใช้น้ำไม่ชอบกลิ่นคลอรีนในน้ำประปา สามารถแก้ปัญหาง่าย ๆ โดยการเปิดฝาภาชนะบรรจุน้ำประปาไว้ประมาณ 30 นาที กลิ่นคลอรีนก็จะระเหยออกไปเองจนหมด ทั้งนี้หากไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ กปภ.ไม่ว่ากรณีใด ๆ สามารถแจ้งได้ที่PWA Call Center โทร.1662