ปภ.แนะเฝ้าระวัง – ป้องกันจุดเสี่ยง – เลี่ยงอันตราย ป้องกันเด็กจมน้ำเสียชีวิต

07 Jan 2016
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตือนการจมน้ำเป็นอุบัติภัยที่คร่าชีวิตเด็กไทยมากที่สุด พร้อมแนะผู้ปกครองเฝ้าระวังอันตราย ไม่ให้เด็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง พร้อมดูแลการเล่นน้ำของเด็กอย่างใกล้ชิด อีกทั้งให้เด็กใช้อุปกรณ์เสริมความปลอดภัยทุกครั้งที่ประกอบกิจกรรมทางน้ำ รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมในและนอกบ้านให้ปลอดภัย เพื่อป้องกันเด็กจมน้ำเสียชีวิต

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเปิดเผยว่า วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมของทุกปีเป็นวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งวันเด็กปีนี้ตรงวันที่ 9 มกราคม 2559 การจมน้ำเป็นอุบัติภัยที่คร่าชีวิตเด็กไทยมากที่สุด โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มักจมน้ำเสียชีวิตบริเวณแหล่งน้ำภายในบ้าน และเด็กอายุ 5 - 17 ปี มักจมน้ำเสียชีวิตในแหล่งน้ำใกล้บ้าน แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะ ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันเด็กจมน้ำ ดังนี้ ไม่ให้เด็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพังโดยเฉพาะบริเวณริมตลิ่ง ชายทะเล น้ำตก รวมถึงไม่ปล่อยให้เด็กเล็กเล่นน้ำในอ่างน้ำหรืออยู่ในห้องน้ำโดยไม่มีผู้ดูแล ไม่ให้เด็กเล่นน้ำในแหล่งน้ำที่ไม่คุ้นเคยตามลำพัง แม้เด็กจะว่ายน้ำ เนื่องจากแหล่งน้ำแต่ละแห่งมีความลึก ความชัน และความแรงของกระแสน้ำที่ต่างกัน ซึ่งเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กจมน้ำเสียชีวิตได้ ไม่ประกอบกิจกรรมอื่นขณะดูแลเด็กเล่นน้ำ อาทิ คุยโทรศัพท์ พิมพ์ข้อความ เล่นเกม แม้จะละสายตาจากเด็กในช่วงเวลาสั้นๆ หากเด็กจมน้ำจะไม่สามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงที สอนเด็กเรียนรู้อันตรายจากการเล่นน้ำ

โดยแนะจุดเสี่ยงบริเวณรอบบ้านและพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงวิธีป้องกันมิให้ประสบเหตุพลัดตกน้ำ สร้างสภาพแวดล้อมในและนอกบ้านให้ปลอดภัยจากการจมน้ำของเด็ก ด้วยการปิดประตูห้องน้ำทุกครั้งหลังใช้งาน จัดให้มีฝาครอบปิดภาชนะกักเก็บน้ำ สร้างรั้วหรือทำตะแกรงกั้นล้อมรอบแหล่งน้ำ ติดป้ายเตือนอันตรายและจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยเหลือคนจมน้ำไว้บริเวณใกล้ๆ แหล่งน้ำ ดูแลการเล่นน้ำของเด็กอย่างใกล้ชิด โดยเด็กต้องอยู่ในระยะที่มองเห็นและเข้าถึงได้ทันที ในระยะห่างไม่เกิน 1 ช่วงแขน หากเด็กจมน้ำจะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงที ให้เด็กใช้อุปกรณ์เสริมความปลอดภัย ขณะโดยสารเรือหรือประกอบกิจกรรมทางน้ำ เช่น เสื้อชูชีพ โฟม ห่วงยาง เพื่อพยุงตัวเด็กให้ลอยน้ำ จะช่วยป้องกันการจมน้ำ ฝึกเด็กให้มีทักษะในการว่ายน้ำและช่วยเหลือตนเองเมื่อพลัดตกน้ำ เช่น ลอยตัวในน้ำได้เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3 นาที และสามารถว่ายน้ำจากท่าลอยตัวได้ในระยะ 15 เมตร โดยใช้มือทั้งสองข้างสลับกันพุ้ยน้ำ ใช้ขาถีบน้ำในท่าปั่นจักรยาน กรณีเด็กเล็ก ควรสอนให้เด็กตะโกนขอความช่วยเหลือเมื่อพลัดตกน้ำ รวมถึงตะกายเข้าหาฝั่งแม้ว่ายน้ำไม่เป็น สอนเด็กเรียนรู้วิธีปฏิบัติเมื่อพบคนจมน้ำ โดยโยนอุปกรณ์ชูชีพหรือสิ่งของที่ลอยน้ำได้ เช่น ห่วงยาง โฟม ยางในรถยนต์ ลูกมะพร้าว ถังพลาสติก เป็นต้น ให้คนที่จมน้ำใช้ยึดเกาะพยุงตัวรอการช่วยเหลือหรือใช้เชือกผูกสิ่งของที่ลอยน้ำได้ให้คนที่จมน้ำยึดจับ เพื่อดึงเข้าหาฝั่ง แม้เด็กจะว่ายน้ำเป็น ก็ไม่ควรลงไปช่วยเหลือคนตกน้ำ เพราะอาจจะถูกกอดรัด ทำให้จมน้ำเสียชีวิตได้

0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th