ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 22 วันที่ 10-11 กันยายน 2558 ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์

15 Sep 2015
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers' Meeting: APEC FMM) ครั้งที่ 22 ระหว่างวันที่ 10-11 กันยายน 2558 ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฟิลิปปินส์ (นาย Cesar V. Purisima) เป็นประธาน พร้อมกับผู้แทนระดับสูงจากองค์กรระหว่างประเทศ ประกอบด้วย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ธนาคารโลก (World Bank) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) และสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) โดยมีหัวข้อหลัก (Theme) ของการประชุม คือ Building Inclusive Economies, Building a Better World ซึ่งมีการหารือที่สำคัญสรุปได้ดังนี้

1.สมาชิกเอเปคได้หารือถึงแนวโน้มด้านเศรษฐกิจและการเงินโลกและได้ตกลงที่จะร่วมกันสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและสมดุลในภูมิภาค และเห็นว่า ภูมิภาคเอเปคเป็นเครื่องยนต์หลักที่ผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ดังนั้น จึงต้องร่วมกันเสริมสร้างเสถียรภาพเพื่อรองรับความผันผวนของตลาดการเงิน โดยจะให้ความสำคัญกับการใช้นโยบายการคลังที่ยืดหยุ่น หลีกเลี่ยงการแข่งขันเพื่อลดค่าเงินและการกีดกันทางการค้าในทุกรูปแบบ และเร่งปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อยกระดับศักยภาพในการเจริญเติบโต

2.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคได้ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการเซบู (Cebu Action Plan) ซึ่งจะกำหนดแนวทางความร่วมมือด้านการเงินการคลังของเอเปคตลอด 10 ปีข้างหน้าและยึดตามหลักการพื้นฐานของกรอบความร่วมมือเอเปคที่ไม่ผูกพันและเป็นไปตามความสมัครใจของสมาชิก โดยจะประสานการดำเนินการกับองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องด้วยCebu Action Plan ประกอบด้วยความร่วมมือ 4 ด้าน ได้แก่

· การส่งเสริมการรวมกลุ่มทางการเงิน (Promoting Financial Integration) เพื่อนำไปสู่การรวมตัวทางการค้าและการลงทุนในระดับที่สูงขึ้นโดยส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และผลักดันให้แต่ละเขตเศรษฐกิจเน้นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของวิสาหกิจขนาดจิ๋ว ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (Micro Small and Medium Enterprise: MSMEs) การให้ความรู้ทางการเงิน การลดข้อจำกัดของการค้าบริการด้านการเงินข้ามพรมแดนการอำนวยความสะดวกในการโอนเงินกลับประเทศ (Remittance Flows) และสนับสนุนโครงการจัดการกองทุนรวมภูมิภาคเอเชียข้ามพรมแดน (Asia Region Funds Passport: ARFP) เป็นต้น

· การเร่งรัดการปฏิรูปและเพิ่มความโปร่งใสทางการคลัง (Advancing Fiscal Reforms and Transparency) เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรด้านการคลังอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสนับสนุนให้สมาชิกร่วมมือกันในการจัดทำกรอบการลงทุนของภาครัฐ (Public Investment Frameworks) การปฏิรูปด้านการคลัง การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ และการแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่ดีและข้อมูลด้านภาษี เป็นต้น

· การเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน (Enhancing Financial Resiliency) จะเน้นการเตรียมพร้อมด้านการคลังเพื่อให้สามารถรองรับผลกระทบกรณีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือภัยธรรมชาติ โดยเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับมาตรการดูแลความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมหภาคและสถาบันการเงิน(Macro-Prudential Measures) การจัดการความเสี่ยงและการประกันภัยรวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุน

· การเร่งรัดการลงทุนและการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Accelerating Infrastructure Development and Financing) เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในภูมิภาคสอดคล้องกับ APEC Connectivity Blueprint และเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคได้หยิบยกขึ้นหารืออย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 โดยที่ประชุมได้เน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership) ที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้สมาชิกเอเปคอื่นสามารถนำไปปรับใช้ในเขตเศรษฐกิจของตนได้

ในระหว่างการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ร่วมหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (Mr. John Tsang) ปลัดกระทรวงการคลังด้านการเงินระหว่างประเทศ (Assistant Secretary for International Finance) ของสหรัฐอเมริกา (Mr. Ramin Toloui) และประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (Mr. Takehiko Nakao) โดยได้แลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก สถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจการคลังระหว่างทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไทย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และนิวซีแลนด์ได้ร่วมลงนามในร่างหนังสือแสดงความเข้าใจการจัดตั้งโครงการจัดการกองทุนรวมภูมิภาคเอเชียข้ามพรมแดนภายใต้กรอบเอเปค (Statement of Understanding on the Establishment of the Asia Region Funds Passport: SOU on ARFP) เพื่อแสดงเจตจำนงเข้าร่วมในการอนุญาตให้มีการขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมข้ามพรมแดนระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปคที่เข้าร่วมในโครงการฯ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตลาดทุนไทย สร้างทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นแก่นักลงทุน และขยายความร่วมมือในภูมิภาคให้มากขึ้น