กรมทรัพฯ ลงเกาะช้าง ปั้นไกด์ดำน้ำ รักษ์อ่าวไทยทะเลแห่งอาเซียน

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

          เมื่อเร็วๆนี้ (วันที่ 6-7 เมษายน พ.ศ.2559) "กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง" ร่วมกับ "โรงเรียนสอนดำน้ำ Dolphin Divers" จัดอบรมนักศึกษาฝึกอาชีพไกด์ดำน้ำจากโครงการ "อุตสาหกรรมดำน้ำ คนไทยทำได้" ให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ทะเลและสำรวจแนวปะการัง ในหัวข้อ "อาชีพไกด์ดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ทะเลไทยแห่งอาเซียน" (ภายใต้โครงการกรีนฟินส์) ณ โรงแรม The Emerald Cove เกาะช้าง จ.ตราด
          ด้วยศักยภาพของทะเลอาเซียนมรดกการท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีความสวยงามและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ดังนั้นการมีความรู้ด้านพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบต่อทะเลให้น้อยที่สุด หรือที่เรียกว่า "การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" จึงเป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ต้องร่วมมือกันให้เกิดการปฏิบัติจริงเพื่อนำไปสู่การบูรณาการที่วัดผลได้ต่อเนื่อง นายณัฐวัชร์ คำเสน นักวิชาการเผยแพร่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายซาช่า อูลเมอร์ (Mr.Sacha Ulmer) เจ้าของโรงเรียนสอนดำน้ำ Dolphin Divers ผู้ริเริ่มโครงการอุตสาหกรรมดำน้ำ คนไทยทำได้ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒจึงขอเป็นตัวแทนเพื่อนำเสนอการทำงานร่วมกันในครั้งนี้
          กิจกรรมการจัดอบรมความรู้การอนุรักษ์ทะเลและสำรวจแนวปะการังแบ่งเป็น 2 วัน ในวันแรกเป็นกิจกรรมภาคบรรยาย เช่น ความรู้เกี่ยวกับเรื่องปะการัง วิธีการดูการฟอกขาวของปะการัง การสังเกตชนิดของปลา ตัวอย่างผลกระทบจากขยะที่ส่งผลต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล การทดลองสำรวจปะการังจากภาพ และจำลองเหตุการณ์ของไกด์ดำน้ำที่ต้องแนะนำสิ่งที่ควรทำและกล่าวเตือนนักท่องเที่ยวที่ทำผิด พร้อมวิธีการพูดขอความร่วมมือกับนักท่องเที่ยว
          นายณัฐวัชร์ คำเสน นักวิชาการเผยแพร่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้กล่าวว่า "สำหรับการอบรมครั้งนี้คือเราต้องการเครือข่ายนักดำน้ำและผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางทะเล เพื่อช่วยในการดูแลทรัพยากรทางทะเลของประเทศไทยเรา เนื่องจากจำนวนเจ้าหน้าที่เราไม่สามารถดูแลทะเลได้ทั่วถึง กลุ่มผู้ประกอบการมีโอกาสได้ลงไปพบเห็นทรัพยากรทางทะเลทุกวันมากกว่าเจ้าหน้าที่ด้วยซ้ำไปในบางที เพราะฉะนั้นความถี่ที่จะเห็นทรัพยากรมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้เราได้ข้อมูลที่ละเอียดขึ้นซึ่งมีประโยชน์ในการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมทรัพฯมากยิ่งขึ้น ข้อมูลที่ได้จากนักดำน้ำไม่ว่าจะเป็นการสำรวจแนวปะการังหรือการพบเห็นการทำร้ายแนวปะการังหรือการพบปะการังฟอกขาว ข้อมูลเหล่านี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็จะนำมาบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลเพื่อนำไปสู่การทำเป็นพื้นที่คุ้มครองหรือออกมาตรการในการตรวจหรือเข้มค้นในการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อไม่ให้มันถูกทำลายไปมากกว่านี้และจะดูแลให้ได้อย่างยั่งยืนเพื่อให้ลูกหลานเราได้เห็นต่อไปครับ"
          นายซาช่า อูลเมอร์ ผู้ริเริ่มโครงการอุตสาหกรรมดำน้ำ คนไทยทำได้ เครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำ เสริมว่า "มันสำคัญมากที่นักศึกษาฝึกอาชีพไกด์ดำน้ำจะต้องได้รับการอบรมความรู้จากกรมทรัพฯ เพราะพวกเขาคืออนาคตของประเทศ ดังนั้นพวกเขาต้องมีความรู้เกี่ยวกับปะการังในประเทศไทย ต้องปกป้องทะเล และเป็นเพราะพวกเขานี่แหละที่เราจะสามารถช่วยกันทำให้ทะเลและปะการังดีขึ้น เพราะว่าเขาสามารถนำความรู้จากการอบรมครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์ ไม่ใช่แค่ไปดำน้ำสนุกๆ เพราะเมื่อไปดำน้ำคุณต้องระวังปะการังและทุกอย่างใต้ทะเล คุณต้องให้ความเคารพกับทะเลและปะการัง มันเป็นความรับผิดชอบของไกด์ดำน้ำที่จะต้องดูแลทะเล เพราะสุดท้ายแล้วอาชีพของเราคือการลงไปในทะเล ออฟฟิศของเราคือทะเล ถ้าเราพานักท่องเที่ยวไปดำน้ำและเห็นทะเลที่แย่มาก เราก็ไม่สามารถทำงานได้ ดังนั้นมันเป็นความรับผิดชอบของเราที่จะต้องดูแลทะเลให้ดูดี และเป็นความรับผิดชอบของพวกเราที่จะต้องสอนผู้คนและนักท่องเที่ยวให้เคารพทะเล"
กิจกรรมวันที่สอง คือ การลงดำน้ำสำรวจแนวปะการังและบันทึกข้อมูล การลงพื้นที่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อไปสำรวจปะการัง ที่ 2 จุดดำน้ำ คือ หินสามสาวและหินราบเหนือ เมื่อสำรวจเสร็จจึงนำข้อมูลที่ได้กรอกลงในเว็บไซด์ www.greenfins-thailand.org เพื่อเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่กรมทรัพฯ ใช้ปฏิบัติงานต่อไป ข่าวดีสำหรับการสำรวจครั้งนี้คือ ปะการังบริเวณจุดดำน้ำทั้ง 2 แห่ง ยังคงความสวยงามอยู่ ไม่เกิดการฟอกขาวมากเท่าไหร่ หรือแทบจะไม่เห็นปะการังฟอกขาวเลย
          นายสุรศักดิ์ ชาติรักวงศ์ นิสิตสาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตัวแทนผู้เข้ารับการอบรม กล่าวว่า "ความรู้จากที่ได้ฟังอบรม Reef Watch เป็นเหมือนเครื่องมือที่ใช้งานได้จริงๆ ต่างจากทฤษฏีในห้องเรียนบางอย่าง ซึ่งความรู้ที่ได้ครั้งนี้ทำให้เราเป็นเหมือนกับ หนึ่งแรงน้อยๆที่เป็นกำลังสำคัญในการที่จะเป็นผู้สอดส่องและดูแลทรัพยากรปะการังในอนาคตต่อๆไป ความยากที่แตกต่างกันนั้นแทบจะไม่มีเลย เพราะตอนที่ดำน้ำลงไปสำรวจก็มีความรู้สึกว่าได้ลงไปดำน้ำท่องเที่ยวเหมือนกัน บางทีการที่ลงไปดำน้ำสำรวจปะการังยังได้เห็นอะไรได้มากกว่าการดำน้ำท่องเที่ยวครั้งก่อนๆซะอีก เพราะก่อนหน้านั้นที่ลงและยังไม่รู้จักการทำ Reef watch ก็แค่ดำน้ำผ่านๆ ไม่ได้เข้าไปใกล้ปะการังมาก พอมาทำ Reef watch เราต้องคอยสังเกต และพิจารณาแนวปะการังไปรอบๆ ได้รู้จักปะการังมากขึ้นกว่าเดิมอีก"
          อาชีพไกด์ดำน้ำ หรือ Dive Leader เกี่ยวเนื่องกับมูลค่าการท่องเที่ยวและการรักษาทรัพยากรในท้องทะเล หากเราต้องการมีมรดกธรรมชาติทางทะเลที่สามารถสร้างรายได้ในระยะยาว การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจึงเป็นทางออกที่ต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ดังที่เคยกล่าวเอาไว้ว่า การพัฒนาศักยภาพบัณฑิตให้สามารถเข้าสู่งานบริการธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเลด้วยระบบการศึกษา พร้อมปลูกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ จะเป็นการวางรากฐานเพื่อทำให้อาเซียนสามารถเป็นศูนย์การด้านการท่องเที่ยวทางทะเลได้อย่างมีทิศทางและยั่งยืน
          สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมการอบรมในโครงการอุตสาหกรรมดำน้ำ คนไทยทำได้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร 086-101-4783 หรือ www.facebook.com/seaeventsBangkok และสามารถดาวน์โหลดเอกสารการดำน้ำอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงการสำรวจแนวปะการังด้วยตัวเอง (Reef Watch) ได้ที่ www.greenfins-thailand.org

กรมทรัพฯ ลงเกาะช้าง ปั้นไกด์ดำน้ำ รักษ์อ่าวไทยทะเลแห่งอาเซียน
กรมทรัพฯ ลงเกาะช้าง ปั้นไกด์ดำน้ำ รักษ์อ่าวไทยทะเลแห่งอาเซียน
กรมทรัพฯ ลงเกาะช้าง ปั้นไกด์ดำน้ำ รักษ์อ่าวไทยทะเลแห่งอาเซียน
กรมทรัพฯ ลงเกาะช้าง ปั้นไกด์ดำน้ำ รักษ์อ่าวไทยทะเลแห่งอาเซียน
 

ข่าวกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง+โรงเรียนสอนดำน้ำวันนี้

อ.อ.ป. ร่วมประชุมภาคีป่าไม้แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 20 (UNFF20)

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นำโดย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) พร้อมด้วย นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ และผู้แทนจากกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการต่างประเทศ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึง นายประสิทธิ์ เกิดโต รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้

มิสทิน ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั... มิสทิน ร่วมกับ ทช. เดินหน้าโครงการยกเลิกการใช้สารที่เป็นอันตรายต่อปะการัง — มิสทิน ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เดินหน้าโครงการยกเลิกการใช้ส...

นายอรรถพล เจริญชันษา (ที่2จากซ้าย) อธิบดี... LET จัดอบรม e-Service การบริหารจัดการสัตว์ป่าตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ — นายอรรถพล เจริญชันษา (ที่2จากซ้าย) อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รัก...