The Ocean Cleanup และพันธมิตร ร่วมฉลอง 1 ปีแห่งการเรียนรู้ ในการร่วมดูแลแม่น้ำเจ้าพระยา

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

The Ocean Cleanup ร่วมกับเหล่าพันธมิตร ฉลองโอกาสครบรอบ 1 ปีแห่งความร่วมมือในการติดตั้งเรือ Interceptor(TM) ลำแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือเชิงวิจัยเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่มีการสัญจรมากที่สุดสายหนึ่งของโลก

The Ocean Cleanup และพันธมิตร ร่วมฉลอง 1 ปีแห่งการเรียนรู้ ในการร่วมดูแลแม่น้ำเจ้าพระยา

โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของพันธมิตรจากหลายภาคส่วน ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กรุงเทพมหานคร, กรมเจ้าท่า, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย, บริษัท อีโคมารีน จำกัด, บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โคคา-โคล่า ประเทศไทย เพื่อศึกษาปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกที่ส่งผลต่อแม่น้ำและลำคลองสายต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ

Interceptor 019 ที่ติดตั้งในแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเรือที่ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์และมาพร้อมนวัตกรรมเทคโนโลยีของ The Ocean Cleanup ในการช่วยดักจับขยะในแม่น้ำ เพื่อช่วยสกัดขยะพลาสติกก่อนที่จะถูกพัดพาลงสู่มหาสมุทร

นอกจาก Interceptor 019 จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยขยะพลาสติกแล้ว ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมายังสามารถดักจับขยะได้มากกว่า 150 ตัน สร้างงาน 13 ตำแหน่ง และมีผู้เยี่ยมชมมากกว่า 450 คน ซึ่งรวมถึงหน่วยงานภาครัฐและนักเรียน นักศึกษา

แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของผู้คนและชุมชนมายาวนาน เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 11 ล้านคน และนับเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญของเอเชีย

โครงการนี้ได้ติดตั้ง Interceptor 019 ที่ริมฝั่งแม่น้ำบริเวณหน้าสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ซึ่งเป็นช่วง 16 กิโลเมตรสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีลำคลองจำนวน 61 สายไหลมาบรรจบในช่วงนี้ ทำให้มีโอกาสที่ขยะพลาสติกจะถูกพัดพามาจากที่ต่าง ๆ ทั้งนี้ได้มีการเก็บข้อมูลของขยะที่ Interceptor 019 ดักจับได้ เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจประเภทของขยะพลาสติก และมุ่งศึกษาวิธีการสกัดและดักจับขยะพลาสติกก่อนที่จะไหลเข้าสู่ช่วง 50 กิโลเมตรสุดท้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะบรรจบกับอ่าวไทยและพัดพาขยะพลาสติกไปยังมหาสมุทร

โบแยน สแลต ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้ง The Ocean Cleanup กล่าวว่า "พันธกิจของ The Ocean Cleanup คือการกำจัดขยะพลาสติกในมหาสมุทรทั่วโลก และเราเชื่อว่าการแก้ปัญหาจากต้นทาง ซึ่งก็คือแม่น้ำ เป็นสิ่งสำคัญ ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในประเทศไทยที่นำเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญระดับโลกของเรา มาผนวกกับความรู้และการดำเนินงานในพื้นที่ ได้สร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยั่งยืนให้กับกรุงเทพฯ และที่อื่นๆ นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการป้องกันขยะพลาสติกไม่ให้ไหลลงสู่มหาสมุทร และแสดงให้เห็นว่าเมื่อเราผสานนวัตกรรมเข้ากับความร่วมมือของพันธมิตรในพื้นที่ สามารถยกระดับการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในระดับโลกได้"

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า "ความสำเร็จของ Interceptor 019 แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าสำคัญของเราในการปกป้องทะเลและชายฝั่งของไทยอย่างต่อเนื่อง เราตระหนักดีว่าพลาสติกในแม่น้ำส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศทางทะเล ความร่วมมือกับ The Ocean Cleanup ทำให้เราได้ข้อมูลวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการวางนโยบายและแผนอนุรักษ์ทะเลโดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสามารถดักจับขยะก่อนที่จะไหลลงสู่อ่าวไทยได้ถึง 184,000 กิโลกรัม ซึ่งพิสูจน์ว่าการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี สอดประสานกับกับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สามารถสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้"

"เราเชื่อว่าความพยายามอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก จะช่วยลดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล ซึ่งรวมถึงการปกป้องสัตว์ทะเลหายาก แนวปะการัง และระบบนิเวศทางทะเลโดยรวม นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความตระหนักรู้ และส่งเสริมให้ประชาชนรู้สึกอยากมีส่วนในการปกป้องมหาสมุทรร่วมกัน"

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า "โครงการติดตั้ง Interceptor 019 ของ The Ocean Cleanup กลายเป็นส่วนสำคัญในแผนการจัดการขยะแบบครบวงจรในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่สำคัญในการพัฒนาและการเชื่อมต่อเมืองของเรา ด้วยความมุ่งมั่นดังกล่าว กรุงเทพมหานคร กำลังปรับปรุงระบบการจัดการขยะในทุกระดับ นับตั้งแต่การส่งเสริมการคัดแยกขยะในครัวเรือน ไปจนถึงการกำจัดขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาโดยใช้เทคโนโลยี ซึ่งรวมถึง Interceptor 019 ที่เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการดูแลแม่น้ำลำคลองอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ปัจจุบัน กทม. สนับสนุนการปฏิบัติงานที่จำเป็นด้านการขนถ่ายและจัดการคัดแยกขยะ นอกเหนือจากขยะพลาสติกที่ Interceptor ดักจับได้ ทาง กทม. ยังสามารถจัดการขยะในแม่น้ำได้ราว 3,400 ตันต่อปี และยังรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหามลพิษให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง"

นอกจาก Interceptor 019 จะดักจับขยะได้กว่า 150 ตันแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อให้ความรู้แก่ชุมชน โดยมีผู้เยี่ยมชมมากกว่า 450 คน ซึ่งรวมถึงนักเรียน นักศึกษา ซึ่งได้เรียนรู้เกี่ยวกับการป้องกันมลพิษในแม่น้ำ โครงการนี้มีส่วนสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้ในวงกว้าง เพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่ผู้คนใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และทำให้เมืองสามารถพัฒนาเดินหน้าควบคู่กับการดูแลรักษาแม่น้ำลำคลองให้ใสสะอาดได้

รีติมา รัคยัน ผู้จัดการทั่วไป และรองประธานฝ่ายธุรกิจแฟรนไชส์ โคคา-โคล่า ประเทศไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา กล่าวว่า "โคคา-โคล่า ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ในประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือระดับภูมิภาคของเรากับ The Ocean Cleanup ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกเล็ดลอดสู่มหาสมุทร นอกจากประเทศไทยแล้ว เรายังสนับสนุนการติดตั้ง Interceptor ในมาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย และทีมงาน โคคา-โคล่า ในแต่ละพื้นที่ยังสนับสนุน The Ocean Cleanup ในการดำเนินงานต่าง ๆ ในพื้นที่ด้วย"

ความสำเร็จครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ในการบูรณาการความเชี่ยวชาญและทรัพยากร ประกอบด้วย

หน่วยงานภาครัฐหลัก

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักในการประสานการดำเนินงานระหว่าง The Ocean Cleanup และหน่วยงานราชการอื่น ๆ พร้อมทั้งดูแลมาตรฐานการทำงานของเทคโนโลยี Interceptor ส่วน กรุงเทพมหานคร ดูแลรับผิดชอบการจัดเก็บและคัดแยกขยะที่ดักจับได้ ซึ่งในแต่ละปีกรุงเทพมหานครมีการจัดการขยะจากแม่น้ำลำคลองเฉลี่ย 3,400 ตัน เพื่อนำพลาสติกกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และกำจัดขยะอื่น ๆ อย่างเหมาะสม รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนในการไม่ทิ้งขยะลงสู่แหล่งน้ำ กรมเจ้าท่า กำกับดูแลด้านข้อกำหนดและมาตรฐานความปลอดภัย ส่วนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย สนับสนุนการเข้าถึงพื้นที่ติดตั้ง Interceptor 019

ผู้ดำเนินงานและพันธมิตรด้านองค์ความรู้

บริษัท อีโคมารีน จำกัด และ บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) รับผิดชอบการติดตั้งและปฏิบัติการของเรือ Interceptor 019 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนด้านการวิจัยขยะพลาสติกที่ดักจับได้ เพื่อนำไปต่อยอดการจัดการปัญหาขยะในแม่น้ำลำคลองในประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย มีส่วนในการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ตลอดระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปีของ Interceptor 019 ในแม่น้ำเจ้าพระยา

ผู้สนับสนุนทางการเงิน

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากมูลนิธิ YP และมูลนิธิ Pathway ซึ่งให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาและติดตั้ง Interceptor 019 ร่วมกับ เดอะ โคคา-โคล่า คัมปะนี ซึ่งเคยเป็นพันธมิตรกับ The Ocean Cleanup ในการสนับสนุนการดำเนินพันธกิจในระดับโลก


ข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม+กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งวันนี้

อ.อ.ป. ร่วมประชุมภาคีป่าไม้แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 20 (UNFF20)

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นำโดย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) พร้อมด้วย นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ และผู้แทนจากกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการต่างประเทศ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึง นายประสิทธิ์ เกิดโต รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดงานวันทะเ... "ท่าเรือประจวบ" รับใบประกาศคุณประโยชน์ด้านอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลฯ — กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดงานวันทะเลโลก 2566 "เปลี่ยนพลิกฟื้น คืนโลกสีคราม Plan...

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธร... ปตท. ผนึกภาครัฐและภาคีเครือข่าย เร่งปลูกป่าเพิ่ม 2 ล้านไร่ มุ่งบรรลุเป้า Net Zero Emissions ปี 2050 — นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ...

นายนนทิกร กาญจนะจิตรา ประธานกรรมการ และ น... JR ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 ปลูกป่าชายเลน "รักษ์โลก" จำนวน 40 ไร่ — นายนนทิกร กาญจนะจิตรา ประธานกรรมการ และ นายจรัญ วิวัฒน์เจษฎาวุฒิ ...

กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) รับมอบเคร... Dow รับมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติยศยิ่ง "รักษ์ทะเลยิ่งชีพ" ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 — กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) รับมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติยศยิ่ง "ร...