จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 9/2559 : ศาลไม่รับฟ้องกรณีผู้บริโภคฟ้อง กสทช. แก้ปัญหาร้องเรียนล่าช้า, ศาลยกฟ้องทีโอทีกรณีฟ้องมติ กทค. ไม่ขยายระยะเวลาใช้คลื่น 470 MHz, รายงานเกี่ยวกับการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

          ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 9/2559 วันอังคารที่ 12 เมษายน 2559 วาระเพื่อพิจารณาที่มีการบรรจุล่วงหน้า ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการพิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทที่ 1 และการพิจารณาสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ซึ่งวาระเหล่านี้เป็นเรื่องของงานประจำทั่วไป ขณะที่วาระน่าจับตากลับเป็นวาระที่สำนักงาน กสทช. เตรียมนำเสนอที่ประชุมเป็นเรื่องเพื่อทราบ 3 วาระ ได้แก่ เรื่องศาลปกครองกลางไม่รับคำฟ้องคดีผู้บริโภคฟ้อง กสทช. แก้ไขเรื่องร้องเรียนล่าช้า เรื่องศาลปกครองกลางยกฟ้องกรณี บมจ. ทีโอที ฟ้องมติ กทค. ที่ไม่อนุมัติให้ขยายระยะเวลาใช้คลื่นความถี่ย่าน 470 MHz และเรื่องรายงานเกี่ยวกับการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวประจำปี 2558
          อย่างไรก็ตาม กว่าจะถึงเวลาประชุมจริง อาจมีเรื่องเพื่อพิจารณาวาระสำคัญแทรกด่วนเข้าสู่ที่ประชุมได้ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดสรรคลื่น 900 MHz และการสิ้นสุดบริการบนคลื่นเดียวกันนี้ ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนแรงยิ่งในขณะนี้

          วาระศาลปกครองกลางไม่รับคำฟ้องคดีผู้บริโภคฟ้อง กสทช. แก้ไขเรื่องร้องเรียนล่าช้า
          วาระนี้ สำนักงาน กสทช. เตรียมรายงานให้ที่ประชุม กทค. ทราบถึงคำสั่งศาลปกครองกลางไม่รับพิจารณาคำฟ้องและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ กรณีผู้บริโภครายหนึ่งยื่นฟ้อง กสทช. ฐานละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร รวมถึงออกกฎโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นกับผู้บริโภค
          ต้นสายปลายเหตุของเรื่องนี้สืบเนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้เคยร้องเรียน บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น มายังสำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2555 มูลเหตุจากถูกเรียกเก็บค่าบริการเสริมทั้งที่ไม่ได้สมัครตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2554 จนถึงมีนาคม 2555 จึงร้องเรียนขอให้บริษัทที่เป็นผู้ให้บริการคืนเงินและชี้แจงถึงสาเหตุที่มีการคิดค่าบริการผิดพลาด ต่อมาสำนักงาน กสทช. ได้แจ้งกับผู้ฟ้องคดีว่าได้รับคำชี้แจงจากผู้ให้บริการว่ามีการคิดค่าบริการเสริมจริงและได้ดำเนินการคืนเงินให้กับผู้ใช้บริการแล้ว แต่ผู้ฟ้องได้ทำหนังสือคัดค้านลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 ว่าไม่เคยได้รับการติดต่อเรื่องการคืนเงินแต่อย่างใด กระบวนการแก้ไขเรื่องร้องเรียนกรณีนี้ยืดเยื้อจนกระทั่งสำนักงาน กสทช. ได้นำเรื่องเสนอต่อที่ประชุม กทค. เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 โดยที่ประชุมมีมติให้ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็สฯ แสดงหลักฐานการสมัครและการคืนเงินผู้ใช้บริการ ซึ่งปรากฏว่าบริษัทฯ ยังคงชี้แจงเช่นเดิมและไม่ได้แสดงหลักฐานเพิ่มเติมแต่อย่างใด จนสุดท้ายผู้บริโภครายนี้เห็นว่าการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. ไม่มีความคืบหน้า อีกทั้งในระหว่างนั้นก็มีข้อสังเกตว่ากระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของ กสทช. ไม่เป็นธรรม เพราะมีการกำหนดให้ผู้ให้บริการสามารถยื่นชี้แจงข้อเท็จจริงได้ภายใน 15 วัน แต่กลับกำหนดให้ผู้บริโภคที่ร้องเรียนชี้แจงได้ภายใน 7 วันเท่านั้น จึงตัดสินใจยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็สฯ คืนเงินค่าบริการที่คิดผิดพลาดพร้อมดอกเบี้ย รวมทั้งขอให้สำนักงาน กสทช. แก้ไขระเบียบปฏิบัติที่ทำให้เกิดความล่าช้าและไม่เป็นธรรม
          อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ด้วยเหตุผลว่าผู้ฟ้องนำคดีที่ฟ้อง กสทช. มายื่นฟ้องต่อศาลพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด โดยต้องยื่นฟ้องศาลปกครองกลางภายใน 90 วัน นั่นแปลว่าผู้ฟ้องจะต้องยื่นฟ้องภายใน 31 ธันวาคม 2555 ส่วนการขอให้บริษัทฯ คืนเงินค่าบริการที่คิดเกินไปนั้น ศาลเห็นว่าเป็นคดีความทางแพ่ง ไม่ใช่คดีปกครอง ขณะที่การขอให้แก้ไขระเบียบปฏิบัติให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ศาลพิจารณาตามคำให้การของสำนักงาน กสทช. ว่า การพิจารณาเรื่องร้องเรียนของสำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามประกาศ กทช. เรื่องกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนฯ ซึ่งไม่มีกำหนดระยะเวลาให้คู่กรณีชี้แจงข้อเท็จจริง จึงเป็นการกำหนดตามความเหมาะสม ประกอบกับผู้ฟ้องไม่ได้แนบระเบียบเกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องร้องเรียนมาพร้อมคำฟ้องด้วย จึงรับฟังได้ว่าไม่มีวัตถุแห่งคดี ในประเด็นนี้ศาลจึงไม่อาจรับฟ้องได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี ผู้ฟ้องคดียังสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน
          วาระนี้แม้เป็นเพียงเรื่องเพื่อทราบ แต่เป็นวาระที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะหากนับเนื่องระยะเวลาจากวันแรกที่ผู้บริโภคนำปัญหามาร้องเรียนที่สำนักงาน กสทช. จนถึงปัจจุบัน พบว่ากินระยะเวลานานกว่า 4 ปี โดยที่ปัญหาเดือดร้อนของผู้บริโภคยังคงค้างคาไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งสะท้อนชัดถึงการขาดประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมที่เป็นอยู่จริง จนสื่อประชาสัมพันธ์ของ กสทช. ที่ว่าตระหนักถึงภารกิจคุ้มครองผู้บริโภคอาจกลายเป็นเพียงเรื่องแต่งที่ไม่สมจริง

          วาระศาลปกครองกลางยกฟ้องกรณี บมจ. ทีโอที ฟ้องมติ กทค. ที่ไม่อนุมัติให้ขยายระยะเวลาใช้คลื่นความถี่ย่าน 470 MHz
          วาระนี้สืบเนื่องจากที่ กทค. เคยมีมติเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 ไม่อนุมัติให้ บมจ. ทีโอที ขยายระยะเวลาใช้คลื่นความถี่ย่าน 470 MHz เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการโทรศัพท์ประจำที่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล อย่างไรก็ตาม บมจ. ทีโอที อ้างสิทธิว่าได้รับอนุญาตจากกรมไปรษณีย์โทรเลขให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 470 MHz ตั้งแต่สมัยที่ยังมีสถานะเป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด ดังนั้นจึงฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติ กทค. ดังกล่าว
          ที่สุดแล้ว เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีนี้ ด้วยเหตุผลโดยสรุปว่า กสทช. มีอำนาจในการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ซึ่งการกำหนดให้คืนคลื่นความถี่ถือเป็นการคืนโดยผลของกฎหมาย ดังนั้นการที่ กสทช. ไม่ขยายระยะเวลาการใช้คลื่นย่าน 470 MHz จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และมติดังกล่าวยังคงมีผลโดยสมบูรณ์ต่อไป
          คำพิพากษานี้จึงนับว่าเป็นการวางบรรทัดฐานเรื่องการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่สำคัญอีกวาระหนึ่ง

          วาระรายงานเกี่ยวกับการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวประจำปี 2558
          ประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. 2555 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่เข้าข่ายตามประกาศมีหน้าที่ต้องรายงานพฤติการณ์และสถานภาพการครอบงำกิจการให้ กสทช. ทราบ ซึ่งรายงานเกี่ยวกับการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวประจำปี 2558 นี้ ตรวจสอบพบว่า มีผู้รับใบอนุญาตที่ต้องปฏิบัติตามทั้งสิ้น 71 ใบอนุญาต แบ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สองที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง 10 ใบอนุญาต, ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม 38 ใบอนุญาต, ผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศและบริการชุมสายอินเทอร์เน็ตแบบที่สองที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง 13 ใบอนุญาต, ผู้รับใบอนุญาตให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบที่สาม 7 ใบอนุญาต, และผู้ได้รับสัมปทาน 3 ใบอนุญาต
          ทั้งนี้ ผลในเบื้องต้นไม่พบว่ามีผู้รับใบอนุญาตที่มีพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงว่าอาจก่อให้เกิดการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว และไม่ปรากฏหลักฐานโดยมีเหตุอันสมควรว่าผู้รับใบอนุญาตรายใดมีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามที่กำหนดไว้ในประกาศ อย่างไรก็ดี สำนักงาน กสทช. ก็ได้นำเสนอถึงปัญหาอุปสรรคในการตรวจสอบไว้ด้วยว่า ที่ผ่านมาผู้รับใบอนุญาตมักจัดส่งข้อมูลเอกสารไม่เพียงพอต่อการพิจารณาของสำนักงาน กสทช. และบางรายก็ไม่ได้ปฏิบัติตามประกาศอย่างครบถ้วน ซึ่งปัจจุบันสำนักงาน กสทช. ก็อยู่ในระหว่างการยกร่างประกาศฉบับใหม่ขึ้นมา โดยหวังจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว


ข่าวคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม+โครงข่ายโทรคมนาคมวันนี้

เอไอเอส ภูมิใจเครือข่ายครอบคลุมสูงสุดเป็นอันดับ 1 ถึง 98.7% ของพื้นที่ประชากร ยืนยันจากผลรายงานการตรวจสอบของ กสทช. ล่าสุด

เอไอเอสยืนยันความมั่นใจให้แก่ลูกค้าว่า ปัจจุบันเครือข่ายครอบคลุมแล้วถึง 98.7% ของพื้นที่ประชากร สูงสุดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มผู้ให้บริการ ยืนยันจากผลรายงานการตรวจสอบของ กสทช. ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 9/2560 บ่ายวันอังคารที่ 28 มีนาคม 2560 โดย 1 ในวาระการประชุมได้แก่ ผลการตรวจสอบการจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมตามเงื่อนไขใบอนุญาตของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 2100MHz ซึ่งสืบเนื่องจาก กสทช. ได้ให้ใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่และ

จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 25/2559

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 25/2559 วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม 2559 มีวาระที่น่าจับตาคือ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 สายงานกิจการโทรคมนาคม, สัญญาการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกับคู่สัญญา จำนวนทั้งสิ้น 10 วาระ, การแก้...

ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ในการประชุม ครั้งที่ 4/2556 วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 4/2556 วันที่ 23 มกราคม2556 เพื่อพิจารณาดำเนินการและมีมติในเรื่องที่มีความสำคัญ ๆ ดังนี้ 1. การกำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่าย...

ภาพข่าว: “จัสเทล” แสดงความยินดี กทช. ครบรอบ 6 ปี

เมื่อเร็วๆ นี้ ศ.ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) (ที่ 2 จากซ้าย) รับมอบกระเช้าแสดงความยินดีจาก นายสมชาย ตรีรัตนนุกูล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค (ที่ 1 จากขวา) ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมและอินเตอร์...

แนวโน้มผู้โทรใช้โปรวินาทีเพิ่มขึ้น เสนอบอร์ด กสทช. ชี้ชะตาการคิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ครั้งที่ 16/2561 วันพุธที่ 22 สิงหาคม 2561 สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอที่ประชุมพิจารณาผลสำรวจข้อเท็จจริงเรื่องการกำหนดให้ผู้...

จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 12/2560 : บจ. ไทม์ ดอทคอม อินเตอร์เนชั่นแนล ขอควบรวมกิจการกับ บมจ. ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 12/2560 วันพุธที่ 3 พฤษภาคม 2560 มีวาระที่น่าสนใจคือการพิจารณาเรื่อง บจ. ไทม์ ดอทคอม อินเตอร์เนชั่นแนล ขออนุญาตควบรวมกิจการด้วยวิธีการ...

จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 11/2560 : พิจารณาแก้ไขเรื่องร้องเรียนผู้บริโภคกรณีไม่สามารถใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย และกรณีไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรายการส่งเสริมการขายได้

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 11/2560 วันอังคารที่ 25 เมษายน 2560 มีวาระที่น่าสนใจคือการพิจารณาแก้ไขเรื่องร้อง...