กรมส่งเสริมสหกรณ์ รุกคืบ พัฒนาขบวนการสหกรณ์ จัดตั้งสถาบันพัฒนากรรมการสหกรณ์

28 Mar 2016
ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยในระหว่างเป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมหลักสูตร " การพัฒนากรรมการสหกรณ์สู่การพัฒนาสหกรณ์ไทยเข้มแข็ง" รุ่นที่ 1 ณ โรงแรมไมด้า โฮเต็ล ถนนงามวงศ์วาน อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันก่อนว่า สหกรณ์ในประเทศไทยกำเนิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2459 ที่จังหวัดพิษณุโลก นับระยะเวลาถึงปัจจุบัน 100 ปีพอดี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ ได้ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนระบบสหกรณ์ รวมทั้งขบวนการสหกรณ์ให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้สหกรณ์ก่อเกิดประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ของสมาชิกสหกรณ์ในทุกสาขาอาชีพ และเอื้อต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมระดับฐานรากของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม วิวัฒนาการของสหกรณ์ได้เจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง จวบจนถึงปัจจุบัน ทุกฝ่ายได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสหกรณ์ที่มีบทบาทในด้านต่าง ๆ เช่น เป็นแหล่งเรียนรู้ในการบริหารจัดการด้านการผลิตและการขาย สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการด้านอาชีพและการตลาด ภายใต้ความรับผิดชอบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินการต่าง ๆ ของสหกรณ์นั้นประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้เป็นรูปธรรม สะท้อนได้จากจำนวนสหกรณ์ของประเทศไทยได้มีการเพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จวบจนปัจจุบันมีมากกว่า 8,000 สหกรณ์ มีสมาชิกสหกรณ์มากกว่า 11 ล้านคน มีการบริหารธุรกิจภายใต้ทุนการดำเนินงานมากกว่า 2.25 ล้านล้านบาท

" การจัดตั้งสถาบันพัฒนาฝ่ายจัดการสหกรณ์ขึ้นในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลของ ท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีความตั้งใจที่จะพัฒนาและยกระดับขบวนการสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะในส่วนของคณะกรรมการและฝ่ายจัดการ ที่นับว่าเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการสหกรณ์ ซึ่งในหลักสูตรการอบรมได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้ทีมีประสบการในการบริหารจัดการด้านการสหกรณ์ด้านต่างๆ มาเป็นวิทยากร นับตั้งแต่เรื่องของอุดมการณ์สหกรณ์ที่ถูกต้อง ระบบการบริหารจัดการสหกรณ์ที่เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย เรื่องการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้ในขบวนการสหกรณ์ ตลอดถึงเรื่องของการเงิน การวิเคราะห์บัญชีและงบการเงินต่างๆ ที่สหกรณ์จะต้องเรียนรู้และเข้าใจ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายสหกรณ์เพื่อการขยายผลสำเร็จจากสหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จแล้วสู่สหกรณ์อื่นๆ ที่จะต้องมีการพัฒนา เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างสหกรณ์อีกด้วย" อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติม