ก.พลังงาน ร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิค (APEC)

28 Mar 2016
ก.พลังงาน ร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิค (APEC) พร้อมถอดบทเรียนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่า และศึกษานวัตกรรมรูปแบบใหม่โรงไฟฟ้า ชี้พลังงานนิวเคลียร์เป็นทางเลือกเชื้อเพลิงสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยรักษาสมดุลด้านต้นทุนค่าไฟฟ้า และยังอยู่ตามแผน PDP 2015 ยันไทยต้องเตรียมพร้อมศึกษาอย่างรอบด้าน คู่ไปกับการสร้างความรู้ความเข้าใจสาธารณชน
ก.พลังงาน ร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิค (APEC)

ดร.สราวุธ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ในฐานะรองโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันนี้ (25 มีค.) กระทรวงพลังงานได้เข้าร่วมประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการตามความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิค (เอเปค) ด้านพลังงานนิวเคลียร์ หรือ APEC SELF-FUNDED WORKSHOP ON NUCLEAR POWER ภายใต้หัวข้อ "พลังงานนิวเคลียร์ยังคงเป็นทางเลือกในการจัดหาไฟฟ้าคาร์บอนต่ำในอนาคตหรือไม่" ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจากหลายองค์กร

ที่สำคัญ เข้าร่วมประชุมหารือถึงทิศทางการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งถือเป็นทางเลือกการผลิตไฟฟ้าที่มีความสำคัญ พร้อมจะได้ร่วมกันแบ่งปันถึงการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ที่จะมีส่วนสำคัญในการช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หรือก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในอนาคตอีกด้วย

ทั้งนี้ การประชุมสัมมนาฯ ครั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะได้รับทราบถึงประสบการณ์จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการฟื้นฟู ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมประชุมจะได้ร่วมกันถอดบทเรียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และแนวทางการป้องกันในอนาคต นอกจากนี้จะได้ร่วมกันศึกษาและรับทราบถึงนวัตกรรมรูปแบบใหม่ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ หรือเทคโนโลยี Small Modular Reactor (SMR) ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก ซึ่งอยู่ในความสนใจของโลกในขณะนี้

ดร.สราวุธ กล่าวเพิ่มว่า นโยบายการส่งเสริมเชื้อเพลิงทางเลือกเพื่อผลิตไฟฟ้าในอนาคต โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ยังคงอยู่ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP 2015 โดยจะมีการเข้าระบบของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ ในช่วงปลายแผนฯ หรือประมาณปี 2579 ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงานได้อยู่ระหว่างเตรียมตัวในการศึกษาอย่างรอบด้าน พร้อมกับการสร้างความรับรู้ความเข้าใจกับสาธารณะ โดยมีกรอบความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้ ASEAN Economic Community's Nuclear Education ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญให้เกิดการพัฒนาเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในภูมิภาคนี้

"พลังงานนิวเคลียร์ ยังถือเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกผลิตไฟฟ้าในอนาคตที่สำคัญของไทย และตามแผน PDP 2015 แม้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเกิดช่วงปลายแผน หรืออีก 20 ปีข้างหน้า แต่กระทรวงพลังงานจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้มากที่สุด เพราะเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ถือเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่จะช่วยทำให้ค่าไฟฟ้าในอนาคตไม่ผันผวน และยังมีส่วนสำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย" ดร.สราวุธกล่าว