รายงานผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559

03 Feb 2016
1. โครงสร้างราคาก๊าซ LPG เดือนกุมภาพันธ์ 2559 และการดำเนินการตามแนวทางการดำเนินการเพื่อเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG ในขั้นตอนที่ 2

จากการทบทวนราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG ซึ่งปัจจุบันราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก (CP) เดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ 297 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 66 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่น ซึ่งเป็นต้นทุนเฉลี่ยของการจัดหาก๊าซ LPG ปรับลดลง 1.2244 บาท/กก. จาก 14.9550 บาท/กก. เป็น 13.7306 บาท/กก.

เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินการเพื่อเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG ระยะที่ 1 คือ การยกเลิกมาตรการต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการนำเข้าของผู้ค้ารายอื่น ตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559 และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมของต้นทุนก๊าซจากการขนส่งไปส่วนภูมิภาค ซึ่ง ปตท. ได้รับชดเชยเพียงรายเดียว ที่ประชุม กบง. จึงได้เห็นชอบให้ยกเลิกการชดเชยค่าขนส่งก๊าซ LPG ไปยังคลังภูมิภาคทั่วประเทศ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป

ปรับอัตราเงินส่งเข้าจากกองทุนน้ำมันฯ จากเดิมเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯ 0.2331 บาท/กก. เป็นกองทุนน้ำมันฯ ชดเชย ที่ 0.4116 บาท/กก. โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป ซึ่งผลจากการปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของก๊าซ LPG มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น 157 ล้านบาท/เดือน ทั้งนี้ สำหรับฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 31 มกราคม 2559 อยู่ที่ประมาณ 42,719 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1) ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG อยู่ที่ 7,291 ล้านบาท และ 2) ในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 35,428 ล้านบาท สรุปราคาขายปลีกก๊าซ LPG เป็นดังนี้

บริเวณพื้นที่

ราคาขายปลีก (บาท/กก.)

ราคาขายปลีกที่เปลี่ยนแปลง

(บาท/กก.)

(บาท/ถัง 15 กก.)

คลังชลบุรี

20.29

-2.00

-30.00

คลังนครสวรรค์

21.37

-0.92

-13.67

คลังลำปาง

22.29

0.00

0.00

คลังขอนแก่น

21.79

-0.50

-7.48

คลังสุราษฎร์ธานี

20.65

-1.64

-24.61

คลังสงขลา

20.67

-1.62

-24.28

อย่างไรก็ตาม การยกเลิกการชดเชยค่าขนส่งก๊าซ LPG ดังกล่าว จะไม่ส่งผลให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในพื้นที่ที่เคยได้รับชดเชยปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนมกราคมแต่อย่างใด

ภายหลังยกเลิกการชดเชยค่าขนส่งฯ ยังคงให้ควบคุมราคาขายก๊าซ ณ คลังก๊าซภูมิภาคในแต่ละพื้นที่เพิ่มขึ้นจากเดิมได้ไม่เกินไปกว่าอัตราค่าขนส่งที่ระบุไว้ในบัญชีค่าขนส่งต่อไปอีกเป็นเวลาสามเดือน เพื่อให้ผู้ประกอบการที่รับก๊าซจากคลังภูมิภาคที่เคยได้รับการชดเชยมีเวลาในการปรับตัว

ส่วนครัวเรือนรายได้น้อย กำหนดให้ได้รับส่วนลดในการซื้อก๊าซ LPG ในอัตราเดียวกันทั่วประเทศ

2. หลักเกณฑ์การคัดเลือกและพิจารณาผู้เข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม

หลักเกณฑ์การคัดเลือกและพิจารณาผู้เข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม รวมทั้งกำหนดประเภทขยะอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริม ตามมติคณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม มีดังนี้

(1) ผู้เข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมต้องตั้งโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม ตาม พ.ร.บ. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 หรือเขตประกอบการอุตสาหกรรม ตามมาตรา 30 ของ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 หรือนิคมอุตสาหกรรมบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม โดยพิจารณาภาระการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศ (Emission loading) และตามข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่รายงาน EIA/EHIA ของนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรมนั้นกำหนดไว้ด้วย

(2) สามารถนำขยะอุตสาหกรรมจากนิคมอุตสาหกรรมอื่นหรือจากโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมเข้ามากำจัดร่วมได้โดยต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการเก็บรวบรวมและการขนส่งขยะหรือกากอุตสาหกรรมที่มีอยู่

(3) นิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งโครงการต้องสามารถเชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าตามศักยภาพของระบบไฟฟ้า

(4) สำหรับโครงการที่มีการกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมที่เข้าข่ายเป็นสิ่งปฏิกูลและวัสดุไม่ใช้แล้ว ต้องได้รับความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่กฎหมายกำหนด ภายใน 12 เดือนนับจากวันตอบรับซื้อ และต้องเปิดเผยข้อมูลและผ่านการรับฟัง ความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

(5) ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจะต้องเสนอรายละเอียดเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในโครงการ โดยต้องเป็นเทคโนโลยีที่สามารถจัดการขยะอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและควบคุมมลพิษที่เกิดขึ้นได้ตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดและหากมีการกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายจะต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงอุตสาหกรรม

(6) หลังจากเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ หากมีผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนยื่นเสนอเกินกำลังการผลิตติดตั้ง 50 เมกะวัตต์ ให้พิจารณาคัดเลือกโครงการตามความพร้อมทางด้านการเงิน สถานที่ติดตั้ง ปริมาณขยะ ความเป็นไปได้ทางด้านเทคนิคและสิ่งแวดล้อม และการยอมรับจากชุมชน โดยเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ รวมทั้งมีขอบเขตระยะเวลาในการก่อสร้างของโครงการและขายไฟฟ้าตามกำหนดภายในปี 2562

(7) สำหรับประเภทขยะอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริม ได้แก่ ขยะอุตสาหกรรม ตามคำนิยามของ"ขยะหรือกากอุตสาหกรรม" ทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายโดยที่การกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ห้ามนำขยะชุมชนเข้ามากำจัดรวมในโครงการยกเว้นของเสียอันตรายจากชุมชน

การดำเนินการต่อไป

มอบให้ กกพ. นำหลักเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมกำหนด ไปใช้ประกอบในการออกประกาศรับซื้อและพิจารณาคัดเลือกโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมต่อไป