ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ มาสเตอร์โพล เสนอผลวิจัยเอกสาร เรื่อง ศึกษาเปรียบเทียบรัฐบาลประชานิยม กับ รัฐบาลประชารัฐ: มุมมองเชิงยุทธศาสตร์ที่ควรจะเป็น

29 Jan 2016
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ มาสเตอร์โพล (Master Poll) เปิดเผยผลวิจัยเอกสาร เรื่อง ศึกษาเปรียบเทียบรัฐบาลประชานิยมกับรัฐบาลประชารัฐ มุมมองเชิงยุทธศาสตร์ที่ควรจะเป็น ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 – 28 มกราคม ที่ผ่านมา พบว่า แนวทาง "ประชารัฐ" ของรัฐบาลรักษาผลประโยชน์ชาติและเพิ่มพูนผลประโยชน์ของประชาชนได้อย่างยั่งยืนแต่อยู่บนหลักการที่ว่า ประชารัฐต้องไม่ใช่ประชานิยม เพราะประชานิยมใช้งบประมาณแผ่นดินจ่ายตรงลงพื้นที่ฐานเสียงของนักการเมืองอย่างไม่เป็นธรรมต่อระบบการคลังและภาษีของประชาชนทั้งประเทศ แต่ประชารัฐที่ค้นพบในงานวิจัยนี้จะใช้ภาคนักลงทุนและภาคองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐ หรือ NGO เป็นตัวขับเคลื่อนที่เรียกว่าโอเปอร์เรเตอร์ (Operator) โดยภาครัฐเป็นผู้ออกกฎระเบียบ กำหนดเป้าหมายในสัญญา และตรวจสอบประเมินผลหรือเรียกว่าเป็น เรคกูเรเตอร์ (Regulator) เปิดให้ภาคนักลงทุนและ NGO ที่ดีเข้าทำสัญญากับภาครัฐ ถ้าทำงานไม่ได้ตามเป้าหมายรัฐบาลก็ไม่ต้องจ่ายอะไรเลย แต่กลุ่มนักลงทุนและ NGO จะกลายเป็นผู้จ่ายแทนที่เรียกว่าเป็นกลุ่มผู้ใจบุญสุนทาน (Philanthropists) รับผิดชอบประเทศชาติและประชาชนร่วมกัน

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า จากการทบทวนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาชาติของต่างประเทศที่ผ่านมา พบว่า ประเทศที่กำลังพัฒนาสามารถสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถสู่ความเป็นที่หนึ่งของโลกในด้านต่างๆ ได้เพราะรัฐบาลของประเทศเหล่านั้นทำงานร่วมกันอย่างแท้จริงกับภาคนักลงทุนและภาคองค์กรที่ไม่ใช่องค์กรภาครัฐหรือที่เรียกกันว่าเป็น ภาคอินเวสเตอร์ (Investor) กับภาคเอ็นจีโอ (NGOs) แต่ตรงกันข้าม หลายประเทศกลับมีรัฐบาลเป็นพระเอกแต่ฝ่ายเดียวโดยทำตัวเป็นผู้ออกกฎระเบียบและเป็นผู้ปฏิบัติหรือที่เรียกว่าเป็นทั้ง Regulator และ Operator มักจะมีปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในภาครัฐและถูกยึดอำนาจซ้ำซากวนอยู่ที่เดิมหรือย่ำอยู่กับที่ ไม่มีอะไรดีขึ้นหรือบางทีดูเหมือนจะดีขึ้นแต่ก็เป็นไปแบบไฟไหม้ฟาง สุดท้ายปัญหาที่ดูเหมือนว่าแก้ได้แล้วก็กลับล้มเหลวไป

สำหรับประเทศไทย มีหลายโครงการที่เป็นแบบประชานิยมโดยรัฐบาลจากการเลือกตั้งในอดีตเป็นผู้ออกกฎเกณฑ์และตัดสินใจใช้งบประมาณแผ่นดินไหลลงไปยังกลุ่มและพื้นที่ฐานเสียงที่ต่างประเทศเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าเป็น ธนกิจการเมือง (Money Politics) โดยมีการบริหารงบประมาณแผ่นดินแบบที่ทีมวิจัยนี้เรียกว่า เม็ดเงินหวานหมู (Pork-Barrel Politics) ที่หว่านลงไปในพื้นที่ฐานเสียงของรัฐบาลเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงหลักความเป็นธรรมด้านการคลังจากเงินภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศ เช่น โครงการจำนำข้าว โครงการประกันราคาข้าว และโครงการใช้งบประมาณแผ่นดินพัฒนาจังหวัดสุพรรณบุรีในอดีต เป็นต้น

ผอ.ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ประกาศใช้แนวทางประชารัฐเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ชาติที่ว่า มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ทำให้แนวทางประชารัฐจึงไม่ใช่แนวทางประชานิยม แต่ผลวิจัยชิ้นนี้พบว่า ประชาชนเป้าหมายที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความแตกต่างระหว่าง แนวทางประชานิยม กับ แนวทางประชารัฐ เพราะยังคงเห็นว่ารัฐบาลแสดงบทบาทเป็นพระเอก เป็นทั้งผู้ออกกฎระเบียบและเป็นผู้ปฏิบัติเองเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ผลวิจัยชิ้นนี้พบว่า แนวทางประชารัฐที่แตกต่างจากประชานิยมของรัฐบาลนักการเมืองนั้น รัฐบาลจะเป็นผู้ออกกฎระเบียบ กำกับ ควบคุม ตรวจสอบและประเมินผลการทำงานของภาคนักลงทุนและภาคองค์กรที่ไม่ใช่องค์กรภาครัฐแต่มาเข้าลงทุนจ่ายเงินร่วมในโครงการประชารัฐเพื่อแก้ปัญหาสำคัญของชาติปกป้องรักษาผลประโยชน์ชาติและผลประโยชน์ของประชาชนทุกคนเป็นส่วนใหญ่ โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าภาคนักลงทุนและNGOs ทำงานได้ตามเป้าหมาย รัฐบาลก็จะจ่ายงบประมาณแผ่นดินให้ผู้ทำงานเหล่านั้น อันถือว่า ทุกภาคส่วนมารับความเสี่ยงและความรับผิดชอบต่อประเทศชาติร่วมกัน

เช่น ปัญหาราคายางพารา ถ้ารัฐบาลกำหนดเป้าหมายไว้ว่า ชาวสวนยางจะต้องขายยางได้ที่ราคากิโลกรัมละ 45 – 50 บาท โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกกฎระเบียบและกำหนดเป้าหมายในสัญญาต่างๆ ให้ภาคนักลงทุนและองค์กร NGOs ที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยทำงานเพื่อชาวสวนยางให้ได้ราคายางตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือเกินคาด ถ้านักลงทุนและ NGOs ที่เข้าร่วมโครงการประชารัฐทำได้สำเร็จ รัฐบาลก็จะจ่ายเงินให้ตามสัญญา แต่ถ้าทำไม่ได้ตามเป้าหมายในสัญญา รัฐบาลก็ไม่ต้องจ่ายอะไรเลย

อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยชิ้นนี้ค้นพบว่า โครงการประชารัฐของกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลชุดนี้ภายใต้ชื่อ โครงการสานพลังประชารัฐเป็นโครงการที่ใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้วโดยนำภาคนักลงทุนหรือ Investor หลายราย และตัวแทนภาคประชาสังคมมาร่วมพัฒนาทุนมนุษย์ยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษาเป็น Competitive Workforce โดยนักวิจัยเสนอให้ภาคนักลงทุนและภาคประชาสังคมเหล่านั้นเข้าร่วมโครงการประชารัฐทำสัญญากับรัฐบาลและจะมีโอกาสได้รับงบประมาณสนับสนุนตามสัญญาโดยรัฐบาลเป็นผู้จ่ายเมื่อกลุ่มนายทุนและภาคประชาสังคมทำงานได้ตามเป้าหมาย เช่น เด็กอาชีวะไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 มีทักษะวิชาชีพที่พัฒนาแล้วตอบโจทย์ความต้องการของนายจ้างได้ ตัวเลขลาออกกลางคันต่ำกว่าร้อยะ 3 ก็จะได้งบประมาณไปหลักร้อยล้านบาท แต่ถ้าทำไม่ได้ตามเป้าหมาย รัฐบาลก็ไม่ต้องจ่ายอะไรเลย แต่บรรดานักลงทุนเหล่านั้นจะกลายเป็นผู้จ่ายแทนรัฐบาลในโครงการประชารัฐนั้นถือว่าภาคนักลงทุนและ NGO เป็นกลุ่มผู้ใจบุญสุนทาน ( Philanthropist) ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของประชาชน

"โดยสรุป ในแนวทางประชานิยม นักการเมืองจะแย่งกันเข้ามาออกกฎเกณฑ์ตัดสินใจใช้จ่ายงบประมาณให้ลงพื้นที่และกลุ่มฐานเสียงการเมืองของตน โดยภาครัฐเป็นผู้ปฏิบัติเสียเองเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำในการใช้งบประมาณที่ไม่เป็นธรรมต่อคนทั้งประเทศ ขณะที่กลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐก็เสี่ยงสูงที่จะตกเป็นเหยื่อความผิดฐานทุจริตคอรัปชั่นมากกว่านักการเมือง แต่แนวทางประชารัฐในความหมายของผลวิจัยชิ้นนี้เป็นการจัดระเบียบการเงิน การคลังใหม่โดยภาครัฐเป็นผู้ออกกฎระเบียบ ควบคุมกำกับ ตรวจสอบและประเมินผลการทำงานของกลุ่มนักลงทุนและกลุ่ม NGO ที่เข้าร่วมโครงการประชารัฐของรัฐบาล ถ้าทำงานได้ตามเป้าหมายรัฐบาลก็จ่ายให้ตามสัญญา แต่ถ้าทำงานไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเลย เงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศจะอยู่ครบ และกลุ่มองค์กรที่มาทำสัญญากับรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายเงินแทนรัฐบาลผลที่ตามมาคือ ทุกภาคส่วนร่วมกันรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชนตามเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่ว่า มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มากกว่าแนวทางประชานิยม" ผอ.ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ กล่าว