จาก “จิตอาสา” หยั่งรากลึกสู่ “สำนึกพลเมือง”

07 Mar 2016
หากน้องๆ เดินไปเข้าห้องน้ำสาธารณะแล้วเจอสิ่งสกปรก...น้องๆ จะทำอย่างไร?

คือคำถามชวนคิดที่ "ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ" ผู้บริหารโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ตั้งใจ "กระตุกต่อมคิด" น้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก (Active Citizen)นับวันคนรุ่นเก่าอ่อนแรงลงเรื่อยๆ ขณะที่ปัญหากลับมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น แต่ขาดคนรุ่นใหม่เข้ามาสานงานต่อ การพัฒนาท้องถิ่นในยุคปัจจุบันจึงไม่ใช่เรื่องของการแก้ปัญหาเหมือนที่ผ่านมา แต่ต้องเป็นการ "สร้างคนรุ่นใหม่ให้กับสังคม" ด้วยการทำให้เด็กรู้จักบ้านตนเอง เพราะถ้าเขาไม่เข้าใจบ้านตัวเอง เขาก็จะไม่รัก แต่ถ้าเขารู้จักบ้านตัวเอง เขาจะเห็นคุณค่าและหวงแหน ดูแลท้องถิ่นของเขา

และนี่คือ "ฐานคิด" ชิษนุวัฒน์ใช้เป็นจุดตั้งต้นของการทำโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก (สมุทรสงคราม เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยมีเป้าหมายคือ "ต้องการสร้างเครือข่ายเด็กเยาวชนภาคตะวันตก" ให้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนงานในพื้นที่ต่อ ซึ่งปีนี้เป็นที่ 2 แล้วที่โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกดำเนินการมา และเพื่อให้ภาพที่ฝัน ไว้เป็นจริง กิจกรรมเวิร์คช็อปครั้งที่ 3 "เรียนรู้สิทธิ รู้หน้าที่ คนต้นเรื่องทำดีเพื่อสังคม" จึงเกิดขึ้น โดยมีกิจกรรม "จิตอาสา" เป็น "อุบาย" พาน้องเรียนรู้เรื่องดังกล่าว

ชิษนุวัฒน์บอกว่า เหตุผลที่เขากำหนดให้มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องจิตอาสา ก็เพื่อต้องการเชื่อมโยงให้น้องได้เรียนรู้เรื่องการ "สร้างสำนึกพลเมือง" โดยครั้งนี้เลือกให้น้องๆ ลงไปทำความสะอาดห้องน้ำ ซึ่งเป็นกิจกรรมพื้นฐาน ที่ใครต่างไปเรียนรู้เต็มไปหมด แต่ทีมงานได้ออกแบบกิจกรรมให้ลงมือทำ แล้วมีการสรุปบทเรียน เพื่อจะเชื่อมโยงไปสู่การมองเรื่องจิตอาสา และถ้าให้ทำห้องน้ำทั่วไปอาจไม่รู้สึกอะไร จึงเลือกให้ไปทำห้องน้ำสาธารณะที่มีคนใช้แล้ว ซึ่งบางทีใช้โดยไม่รักษาความสะอาด พอเด็กได้ไปเรียนรู้ ไปเจอห้องน้ำที่ตัวเองต้องอาสาเข้าไปทำ ก็จำเป็นต้องใช้ใจ ใช้ความกล้า ใช้การตัดสินใจ เพื่อเข้าไปจัดการสิ่งที่ไม่สะอาดหูสะอาดตาเหล่านั้น

"เพราะฉะนั้นการตัดสินใจที่จะลงมือทำ มันต้องผ่านเข้าไปถึงข้างในจิตใจของเขา ทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่าสำนึกบางอย่างจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากข้างใน ไม่ใช่แค่ได้ลงมือทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งเพื่อคนอื่นแล้วพอ ทว่าต้องไปสัมผัสถึงใจ ถ้าเปรียบเทียบห้องน้ำเหมือนปัญหาสังคม บางทีเขาจะเดินเข้าห้องน้ำ แต่พอเจอความสกปรกอาจปิดห้องน้ำนี้แล้วไปเข้าห้องน้ำอื่นที่สะอาดแทน มันก็เหมือนปัญหาสังคมที่คนส่วนใหญ่หนีปัญหาหรือแก้แค่เรื่องที่ง่ายก่อน ฉะนั้นถ้าเขาอยากแก้ปัญหาสังคมที่อยู่ตรงหน้า เขาต้องลุกขึ้นมาแก้ด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ ไม่ใช่ทิ้งปัญหา แล้วเลือกไปอยู่ในสังคมที่ดีๆ มิเช่นนั้นเมื่อไรปัญหาสังคมที่มีอยู่จะมีใครลุกขึ้นมาแก้ไข ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้เราต้องการ "จุดประกาย" ให้น้องใช้เป็นต้นทุนในการลงพื้นที่ไปทำงานจริง"

ชิษนุวัฒน์ เล่าถึงที่มาของแนวคิดนี้ว่า การพาเด็กและเยาวชนไปลงแรง เสียเหงื่อ ทำความสะอาดห้องน้ำวัดในอำเภอแม่กลอง ได้แก่ วัดนางตะเคียน วัดลาดเป้ง วันบังปืน และวัดน้อยแสงจันทร์ ก็เพื่อใช้ "กิจกรรมจิตอาสา" เป็นสะพานเชื่อมไปสู่การเรียนรู้หน้าที่ที่สำคัญของการเป็นพลเมืองนั่นคือ "การทำเพื่อส่วนรวม" นั่นเอง ซึ่งหลังเสร็จสิ้นภารกิจดังกล่าว ทีมงานได้ชี้ชวนให้น้องๆ เห็นว่าสำนึกพลเมืองต้องเกิดจากข้างใน ผ่านการตระหนักรู้ถึงหน้าที่ที่ควรกระทำ

ดังที่ หม่ำ-ธุรกิจ มหาธีรานนท์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาการจัดการการตลาด มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ทีม Superman โครงการสร้างมูลค่าให้ปลาอกกะแล้ สะท้อนว่า "กิจกรรมที่ผ่านมาทำให้รู้ว่าคนเราเลือกเกิดไม่ได้ จะจน จะรวย แต่การมีกฎหมายทำให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในหลายด้าน สำหรับการขัดห้องน้ำก็เป็นสิทธิของแต่ละคนจะไม่ทำก็ได้ เพราะห้องน้ำวัดเป็นสถานที่สาธารณะที่ทุกคนมีสิทธิใช้ บางคนเห็นว่าสกปรกอยากทำความสะอาด แต่ก็ได้แค่คิด โดยไม่ลงมือทำ ห้องน้ำก็ยังสกปรกเหมือนเดิม เหมือนทุกคนที่อยากเห็นสังคมไทยดีขึ้น แต่เพียงแค่คิด โดยไม่ลงมือทำ แล้วสังคมไทยจะดีได้อย่างไร ถ้าจะทำจริง แม้สิ่งเล็กน้อยอย่างการเก็บขยะก็สามารถทำได้ ผมว่าแค่นั้นสังคมก็ดีขึ้นแล้ว มันขึ้นอยู่กับจิตสำนึกมากกว่า เพราะไม่มีใครบังคับจิตสำนึกของใครได้"หม่ำบอกต่อว่า พอพี่ทีมงานบอกว่าจะพาไปขัดห้องน้ำ เพื่อนบางคนอาจตกใจ แต่เขาคิดว่าการมาทำกิจกรรมนี้ เขาเลือกเสียสละมาแล้ว ไม่ว่าต้องไปทำอะไร หนักแค่ไหน ก็พร้อมจะทำ เหมือนในชีวิตจริง หากอยากช่วยเหลือ ต่อให้ปัญหาที่มากมายแค่ไหนก็ต้องทำ ซึ่งการขัดห้องน้ำนี้เป็นเพียงกิจกรรมจิตอาสา แค่รวมกลุ่มแล้วไปทำอะไรสักอย่าง อาจทำเพียงแค่ครั้งเดียวแล้วจบไป แต่วันนี้สิ่งที่เขาได้กลับมาคือ "สำนึกพลเมือง" ครั้งต่อไปที่เห็นห้องน้ำสาธารณะ จะรู้โดยอัตโนมัติว่า ตัวเองสามารถช่วยได้ มีสิทธิทำ และไม่เกินความสามารถที่จะทำคล้ายกับที่ น้องกุ้ง-อภิสิทธิ์ ยากำจัด นักเรียนชั้นม.2 โรงเรียนหนองพลับวิทยา กลุ่มห้วยสงสัย โครงการน้ำต่อชีวิต เยาวชนรุ่นเล็กอีกคนบอกว่า การไปขัดห้องน้ำเป็นหน้าที่ของตัวเอง ถ้าไม่ทำก็จะไม่มีใครทำ อย่างโครงการเรื่องอ่างเก็บน้ำ เขาก็ลุกขึ้นมาทำ เนื่องจากไม่อยากให้ชาวบ้านแตกแยกจนชุมชนไม่น่าอยู่ และอยากให้ทุกคนมีน้ำใช้ไปได้นานๆ แม้ตัวเองจะเป็นเด็กก็ควรมีส่วนเข้าไปจัดการตรงนี้ เพราะต้องสานต่อและถ่ายทอดแก่คนรุ่นต่อไป

ชิษนุวัฒน์บอกต่อว่า เขาอยากเห็นน้องที่มีสำนึกพลเมือง ทันทีที่น้องเห็นปัญหา แม้ไม่ใช่บ้านของตัวเอง แต่เป็นสังคมที่เขาอยู่ เขาจะลุกขึ้นมาช่วยแก้ไขทันที ไม่ต้องรอให้มีโครงการ หรือมีใครมากระตุ้น เกิดเป็น "สำนึกพลเมือง" ที่อยากเข้าช่วยแก้ไขปัญหาของชุมชน สังคม ไม่ใช่แค่ทำเป็นโครงการแล้วจบ เมื่อน้องมีต้นกล้าหรือมีความคิดนี้ปลูกฝังลงอยู่ในเนื้อในตัวแล้ว ยามที่เขาไปเผชิญเหตุการณ์หรือเจอเรื่องราวที่คล้ายคลึงกัน ก็จะลุกขึ้นมาปกป้องทันที สังคมจะอยู่รอดได้ คนในสังคมต้องมีจิตสำนึกสูง เพราะปัจจุบันปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้น ถ้าคนยังไม่มีสำนึก เราก็จะไม่สามารถรับมือกับปัญหาสังคมข้างหน้าได้เลย