คลัสเตอร์ยานยนต์ ส.อ.ท. จับมือ มจธ. ตั้งหลักสูตรวิศวกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มองไกล เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทยด้วยบุคลากร

09 Mar 2016
คลัสเตอร์ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดพิธีลงนามความร่วมมือ เรื่อง "การจัดทำหลักสูตรวิศวกรรมการผลิตชิ้นส่วน ยานยนต์" ขึ้น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ ห้อง ส.อ.ท 1 สภาอุตสาหกรรมฯ โดยเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรในสถานศึกษาครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ในด้านบุคลากร รวมถึงยังจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถรักษาการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลกต่อไปได้อีกด้วย

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า อย่างที่ทราบกันดีว่า หากพูดถึงอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย หนึ่งในนั้นจะต้องมีอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เสมอ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมีสัดส่วน GDP ประมาณร้อยละ 10 ของภาคอุตสาหกรรมการผลิต มีการจ้างงานมากกว่า 850,000 คน และมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก รวมถึงจำนวนการผลิตและการส่งออก โดยจากข้อมูลสถิติ ในปี 2558 พบว่า มีจำนวนการผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 1,913,002 คัน มีการส่งออกจำนวน 1,204,895 คัน และยอดขายภายในประเทศกว่า 799,592 คัน รวมถึงมีมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น มาเลเซีย และภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 16,259 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ยังมีการประเมินว่า ในปี 2559 อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยังคงจะมีแนวโน้มการส่งออกปรับตัวสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย ยังต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายที่สำคัญหลายประการ อาทิ ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกในปัจจุบัน ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในเรื่องการลดมลพิษทางอากาศ การประหยัดพลังงาน และการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้สามารถจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภคที่มีค่านิยมในการรักษาสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในต่างประเทศที่มีการออกกฎระเบียบและมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้น รวมถึงความท้าทายของประเทศต่างๆ ที่ต้องการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก โดยมีมาตรการทางภาษีและนโยบายต่างๆ เกิดขึ้น เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ในการรักษาการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก

"นอกเหนือจากการที่ภาครัฐมีนโยบายด้านการส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างและพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งการพัฒนาระบบการขนส่ง การสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์เพื่อผลักดันให้เกิด Auto City ในประเทศไทย และการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกแล้ว ในส่วนของภาครัฐ ภาคการศึกษาและภาคเอกชนก็เป็นอีกแรงขับเคลื่อนหนึ่งที่สำคัญ ที่จะต้องสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบการศึกษา เพื่อให้บุคลากรในสถานศึกษา ทั้งอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา มีความรู้ ความสามารถ และมีทักษะที่สอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยี และสภาวะการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก โดยการลงนามความร่วมมือ เรื่อง "การจัดทำหลักสูตรวิศวกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์" ระหว่าง คลัสเตอร์ยานยนต์ ส.อ.ท. และ มจธ. ในครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เกิดความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรในสถานศึกษา อันจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ในด้านบุคลากร และให้ประเทศไทยสามารถรักษาการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลกได้ต่อไป" นายสุพันธุ์ กล่าว

ด้าน นายเจน นำชัยศริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรม ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จึงมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อตัวเลขการผลิตรถยนต์ให้ขยับสูงขึ้น รวมทั้งภาครัฐได้มีการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ (Super Cluster) โดยอุตสาหกรรมยานยนต์เป็น 1 ใน 10 ของอุตสาหกรรมเป้าหมายในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อนาคต (New Engine of Growth) และอยู่ในอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) ซึ่งนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศมากขึ้น โดยใน ปี 2563 อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ 3 ล้านคัน ซึ่งประเทศไทย มีกำลังคนอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ประมาณ 850,000 คน และพบว่าในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558 - 2562 มีความต้องการแรงงานในกลุ่มผู้ประกอบการยานยนต์ จำนวน 63,000 คน ในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ จำนวน 200,000 คน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีการยกระดับแรงงานไทยให้มีทักษะกำลังแรงงานอย่างมีคุณภาพ เพียงพอต่อความต้องการ และสามารถรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีการผลิตที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ และเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างยั่งยืน

"การจัดทำหลักสูตรวิศวกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ จะเป็นโครงการที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ให้มีความสามารถและผลิตภาพ รวมทั้ง มีองค์ความรู้ในระดับสูงขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ครอบคลุมทั่วทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ และยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้นักเรียน นักศึกษาที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมเป็นบุคลกรที่มีศักยภาพ มีมาตรฐาน และสมรรถนะในระดับสากล ซึ่งการดำเนินโครงการในรูปแบบดังกล่าวจะป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างมั่นคง และยั่งยืนอย่างแท้จริง" นายเจน กล่าว

นายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน คลัสเตอร์ยานยนต์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของพิธีลงนามความร่วมมือ เรื่อง "การจัดทำหลักสูตรวิศวกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์" ระหว่าง คลัสเตอร์ยานยนต์ ส.อ.ท. และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ว่า เพื่อเป็นการผลิตวิศวกรสำหรับกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ โดยให้มีความรู้ความสามารถในการทำงาน ตั้งแต่วัสดุศาสตร์จนถึงประกอบชิ้นส่วนยานยนต์ และสามารถจัดซื้อจัดจ้างชิ้นส่วนยานยนต์ได้ รวมถึงเพื่อสร้างความร่วมมือด้านการศึกษา การวิจัย และการบริหารจัดการองค์ความรู้ร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงาน โดยคลัสเตอร์ยานยนต์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จะร่วมมือกันเพื่อผลิตบัณฑิตสาขาวิชา วิศวกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรมในรูปแบบ Work Integrated Learning ที่จะทำให้นักศึกษา ได้เรียนรู้จากสถานที่ และประสบการณ์จริง ด้วยเครื่องมือที่มีความทันสมัย ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาแรงงานได้อย่างแท้จริง รวมถึงทั้ง 2 หน่วยงาน จะมีการแลกเปลี่ยนความเห็นในการพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน และพัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้สถานประกอบการไม่ต้องนำบุคลากรไปฝึกปฏิบัติใหม่ ซึ่งโครงการความร่วมมือดังกล่าว ถือเป็นกิจกรรมภายใต้ยุทธศาสตร์ของคลัสเตอร์ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมฯ ที่ต้องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งในระดับปฏิบัติการและวิศวกร เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ในอนาคต ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ Supply chain ของอุตสาหกรรมยานยนต์มากยิ่งขึ้น และให้ประเทศไทยรักษาการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ของโลกได้อย่างยั่งยืนต่อไป

รศ.ดิลก ศรีประไพ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า-ธนบุรี กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือโครงการข้างต้นในการจัดตั้งหลักสูตรวิศวกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ นั้น ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีทีมอาจารย์ที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ในการดำเนินงานวิชาการ และมีผู้แทนจากคลัสเตอร์ยานยนต์ที่มีความเข้าใจในกระบวนการผลิต และแนวโน้ม ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมมาร่วมคิดและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนนักศึกษา โดยทางมหาวิทยาลัย และคลัสเตอร์ยานยนต์ได้วางแผนร่วมกันว่า จะดำเนินการผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาวิศวกรรมการผลิตชิ้นส่วน ยานยนต์ 40 คนต่อปีการศึกษา โดยจะจัดหลักสูตรให้มีโครงงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม Work Integrated Learning ระยะเวลา 6 เดือน มีการฝึกงานทุกปีการศึกษา หลักสูตรละ 2 เดือน โดยการจัดทำหลักสูตรดังกล่าว จะมีการดำเนินงานให้ครบถ้วนตามเกณฑ์การรับรองการประกอบวิชาชีพ โดยสภาวิศวกร กว.วิศวกรรม อุตสาหการ (กลุ่มการผลิต) ด้วย…//