กทค. ถกไร้มติฟ้องทรูเรียกรายได้ช่วงมาตรการเยียวยา

08 Sep 2016
ประชุมด่วนคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) วันที่ 7 กันยายน 2559 สำนักงาน กสทช. เสนอที่ประชุมพิจารณาแนวทางการดำเนินการกรณีการเรียกให้ผู้ให้บริการนำส่งเงินรายได้แผ่นดินจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วงประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ประกาศมาตรการเยียวยาฯ) โดยก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช. ได้มอบหมายให้สำนักงานอัยการสูงสุดฟ้องเป็นคดีปกครองเรียกให้ บจ. ทรู มูฟ นำส่งเงินรายได้จากการให้บริการภายใต้ประกาศเยียวยาฯ ช่วงที่ 1 จำนวน 1,069.98 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยจากการผิดนัดชำระหนี้ อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 ศาลปกครองกลางมีหมายแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีไปให้ถ้อยคำในประเด็นเกี่ยวกับผู้มีอำนาจเรียกให้ บจ. ทรู มูฟ นำส่งรายได้จากการให้บริการ ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559 ตุลาการเจ้าของสำนวนเห็นว่า ข้อกฎหมายตามประกาศมาตรการเยียวยาไม่มีความชัดเจนว่า สำนักงาน กสทช. ซึ่งจะเป็นผู้ฟ้องคดี เป็นผู้มีอำนาจเรียกให้ บจ. ทรู มูฟ นำส่งรายได้หรือไม่ ซึ่งหากไม่ใช่ ศาลปกครองกลางก็อาจจะมีคำสั่งไม่รับฟ้อง ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน กสทช. จึงเสนอเรื่องให้ที่ประชุมพิจารณาเพื่อแก้ไขคำฟ้องให้ กทค. เข้าเป็นผู้ฟ้องคดีร่วมกับสำนักงาน กสทช. ในคดีดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กทค. ใช้เวลาพิจารณาเรื่องดังกล่าวประมาณเกือบหนึ่งชั่วโมง แต่ไม่อาจมีมติได้ โดยสุดท้ายที่ประชุมมีมติให้เลื่อนการพิจารณาเรื่องดังกล่าวออกไป โดยรอจนกว่าเลขาธิการ กสทช. กลับมาปฏิบัติหน้าที่เสียก่อน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการลาพักร้อน

ด้านนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กทค. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชน เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า เห็นด้วยกับแนวทางที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอให้ กทค. เป็นผู้ฟ้องคดีร่วม เนื่องจากจะลดความเสี่ยงจากการที่ศาลปกครองกลางจะไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยสำนักงาน กสทช. ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบด้วยว่า คดีดังกล่าวมีอายุความ 1 ปี และกำลังจะหมดอายุความลงในวันที่ 18 กันยายน 2559 นี้ ดังนั้น กทค. จึงควรเร่งตัดสินใจในเรื่องนี้ เพราะหากดำเนินการล่าช้าทำให้คดีขาดอายุความ ก็จะเกิดความเสียหายกับรัฐได้ นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ บจ. ดิจิตอล โฟน ต้องนำส่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ประกาศมาตรการเยียวยาฯ ด้วยเช่นกัน จำนวน 879.59 ล้านบาท แต่ปัจจุบันยังไม่มีการฟ้องคดี ซึ่งเป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. ก็ต้องเร่งดำเนินการ