หัวเว่ยลงนามในบันทึกความเข้าใจ ช่วยไทยขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลและสมาร์ทซิตี้

28 Jun 2016
บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เตรียมผลักดันโครงการดิจิทัลและสมาร์ทซิตี้ของไทย
หัวเว่ยลงนามในบันทึกความเข้าใจ ช่วยไทยขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลและสมาร์ทซิตี้

ทั้งสามฝ่ายตกลงกระชับความร่วมมือเพื่อสร้างฐานองค์ความรู้ผ่าน "Open Lab" สำหรับไทย ตอบสนองต่อความต้องการที่กำลังเพิ่มมากขึ้นในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลที่เน้นการเพิ่มคุณค่า นอกจากนี้ จะมีการทำวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มการทำงานร่วมกันในโครงการ "สมาร์ทซิตี้" ทั่วประเทศ โดยจะเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองแรก รวมไปถึงความร่วมมือในด้านการศึกษาและการทำวิจัยและพัฒนาร่วมกันในด้านต่างๆ อีกด้วย อาทิ การเกษตร สังคมผู้สูงอายุ และการท่องเที่ยว

"ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เราได้มีกรอบความร่วมมือนี้กับไทย เราได้เคยทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานรัฐบาลหลายแห่งในโครงการเพื่อความยั่งยืน ซึ่งจะนำพาประเทศไปสู่ยุคแห่งดิจิทัล" มร. เดวิด ซุน ประธานบริหาร หัวเว่ย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวในระหว่างพิธีลงนาม "เรามีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นพันธมิตรในโครงการใหม่ๆ ของประเทศ เพื่อช่วยผลักดันให้ไทยได้ก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาค และมุ่งหวังที่จะได้กระชับความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของเราให้แนบแน่นยิ่งขึ้น"

ขอบเขตความร่วมมือนี้จะรวมถึงการก่อตั้งศูนย์นวัตกรรม ที่จะเน้นด้านเมืองอัจฉริยะ(Smart City) อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (Internet of Things), คลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing), ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) และโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Power Grid) รวมถึงการวิจัยด้านไอซีทีร่วมกัน และฝึกอบรมบุคลากร ความร่วมมืออีกด้านที่มีความสำคัญคือการสนับสนุนและผลักดันให้บริษัทสตาร์ทอัพของไทยมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

"ความร่วมมือนี้จะถือเป็นอีกก้าวสำคัญสำหรับโครงการที่ได้รับการคิดและวางแผนมาอย่างละเอียดรอบคอบ เราขอขอบคุณหัวเว่ยที่ช่วยสนับสนุนผลักดันการพัฒนาด้านไอซีทีของไทย และความทุ่มเทช่วยเหลือเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านไอซีทีของภูมิภาค บันทึกความเข้าใจนี้จะช่วยเปิดช่องทางสำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิดและเทคโนโลยีที่อาจนำไปสู่ความก้าวหน้าใหม่ๆ ได้" ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม กล่าว

บันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีระยะเวลา 3 ปี โดยในช่วงเวลาดังกล่าว หัวเว่ยจะนำตัวอย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จจากอุตสาหกรรมไอซีทีทั่วโลกมาแบ่งปันกับไทย ตลอดจนปรับใช้ประสบการณ์ของหัวเว่ยในการดำเนินงานในประเทศ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของไทยได้ดียิ่งขึ้น และมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยได้มากขึ้น