7 สมาคมเหล็กยันช่วยรัฐคุมผู้จำหน่ายต้องส่งมอบสินค้าเหล็ก ย้ำกำลังการผลิต 25 ล้านตัน พร้อมรองรับความต้องการ ราคาพ้นจุดต่ำสุดปรับขึ้นตามตลาดโลก ทำจีนเบี้ยวออเดอร์

08 Jun 2016
7 สมาคม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ยืนยันจุดยืน "เน้นความปลอดภัยของผู้บริโภค-การค้าสินค้าเหล็กอย่างเป็นธรรม"พร้อมอาสาดันไม่ให้เหล็กขาดตลาด เผยกำลังการผลิตเหล็กรวมในประเทศมากถึง 25 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันใช้เพียง 10 ล้านตัน ยังเหลืออีก 15 ล้านตัน เกินความต้องการใช้ภายในประเทศ เผยสินค้าเหล็กควบคุมเข้มโดยกระทรวงพาณิชย์ ชี้ราคาพ้นจุดต่ำสุดและปรับตัวขึ้นตามภาวะตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาเหล็กในจีนผันผวนผิดปกติจากการเก็งกำไรส่งผลจีนเบี้ยวส่งออกสินค้าราคาเดิมที่ตกลงกับลูกค้า

นายวิน วิริยประไพกิจ ในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย 7 สมาคม อาทิ สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน สมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เป็นต้น ซึ่งมีสมาชิกรวมกันกว่า 470 บริษัท เปิดเผยว่าตามที่ปรากฎข่าวสินค้าเหล็กขาดตลาดนั้นกลุ่มสมาคมผู้ผลิตเหล็กได้หารือร่วมกันเพื่อดำเนินการให้ผู้จำหน่ายต้องส่งมอบสินค้าเหล็กแก่ลูกค้า และไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดปัญหาเหล็กขาดตลาด เนื่องจากผู้ผลิตในประเทศสามารถตอบสนองความต้องการได้เพียงพอ โดยกำลังการผลิตรวมของโรงงานใน 7 สมาคมฯ มีมากถึง 25 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ปัจจุบันได้ใช้กำลังการผลิตเพียง ร้อยละ 40 สามารถผลิตสินค้าเหล็กออกมาราว 10 ล้านตันต่อปี เมื่อรวมกับสินค้าเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศราว 7 ล้านตันต่อปี สามารถรองรับความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทยราว 17 ล้านตันต่อปีได้ แม้ความต้องการใช้เหล็กจะเพิ่มขึ้นอีกราวร้อยละ 5 เป็น 18 ล้านตันต่อปี ตามทิศทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ตลอดจนการลงทุนในเมกะโปรเจคต่างๆ อุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศซึ่งยังเหลือกำลังการผลิตอีก 15ล้านตันต่อปี ก็สามารถรองรับความต้องการในระดับดังกล่าวได้

สำหรับข่าวสินค้าเหล็กขาดตลาดนั้น สาเหตุหลักน่าจะมาจากการเก็งกำไรสินค้าเหล็กในตลาดโภคภัณฑ์ล่วงหน้าของประเทศจีน ทำให้ราคาสินค้าเหล็กในประเทศจีนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อย 70 ซึ่งถือว่าเป็นการขึ้นราคารุนแรงผิดปกติจากภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ทำให้รัฐบาลจีนต้องกำหนดมาตรการป้องกันแก้ไขพฤติกรรมการเก็งกำไรดังกล่าวอย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ส่งออกของจีนหลายรายยกเลิกการออกส่งสินค้าเหล็กในราคาเดิมที่ตกลงไว้ก่อนหน้า สร้างความเดือดร้อนต่อลูกค้าต่างประเทศ และมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องมายังตลาดเหล็กในประเทศไทย

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ระบุว่าสินค้าเหล็กที่มีการนำเข้ามายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีราคาปรับสูงขึ้นระหว่าง ร้อยละ 6 จนถึงร้อยละ 30 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าราคาสินค้าเหล็กในประเทศไทยที่ปรับขึ้นนั้นสอดคล้องกับระดับต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นจากภาวะตลาดโลก และเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งเป็นการฟื้นตัวจากช่วงก่อนหน้านี้ที่ผู้ผลิตสินค้าเหล็กในประเทศจำเป็นต้องขายสินค้าต่ำกว่าต้นทุนเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดและประคองธุรกิจให้ยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้

"ยกตัวอย่างเปรียบเทียบ ราคาสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนของไทย เมื่อปี 2555 หรือเมื่อ 5 ปีก่อน อยู่ที่ 23,250 บาทต่อตัน หลังจากนั้นราคาได้ตกต่ำอย่างต่อเนื่องหลายปี ตามภาวะถดถอยของตลาดเหล็กโลก และการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กจากจีนไปทั่วโลก จนราคาต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปลายปี 2558 ที่ 13,300 บาทต่อตัน ซึ่งต่ำกว่าปี 2555 ถึงร้อยละ 43 แต่ในปี 2559 ราคาสินค้าเหล็กได้พ้นจุดต่ำสุดและเริ่มปรับตัวขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบและตลาดโลก แต่ก็ไม่ใช่ราคาที่สูงผิดปกติ เพราะระดับราคาปัจจุบันก็ยังต่ำกว่าราคาปี 2555 กว่าร้อยละ 20 โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ผลิตแต่ละรายถูกตรวจสอบ และควบคุมราคาสินค้าเหล็กอย่างเข้มงวด โดยต้องรายงานราคาสินค้าเหล็กเป็นรายวันต่อกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์"

"กลุ่ม 7 สมาคมฯ ขอยืนยันว่าเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม และผลประโยชน์ส่วนรวมในระยะยาว รวมทั้งดูแลไม่ให้ผู้จำหน่ายปรับราคาสูงเกินความเป็นจริง หากพบผู้จำหน่ายมีการกักตุนสินค้า ไม่ส่งมอบสินค้าให้ผู้ใช้ ทางผู้ผลิตจะใช้มาตรการทางการค้าที่จำเป็น เพื่อเร่งให้ส่งมอบสินค้าเหล็กให้ได้ตามที่ผู้ใช้ต้องการ ทั้งนี้ ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานร่วม โทรศัพท์ 061 408 0555เป็นช่องทางรับทราบสำหรับควบคุมแก้ไขปัญหา และจะประสานรายงานเรื่องดังกล่าวให้กระทรวงพาณิชย์ทราบโดยใกล้ชิด เพื่อสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ ในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ รวมทั้งเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก และเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน" นายวินกล่าว