สปสช. ร่วมกับมูลนิธิโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย จัดสัมภาษณ์พิเศษ “ฮีโมฟีเลีย” โรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูงและได้รับการดูแลรักษาจากรัฐบาล

17 Jan 2017
ในปัจจุบันมีผู้ป่วยด้วยโรคฮีโมฟีเลียทั่วประเทศถึง 6,000 ราย แต่มีผู้ป่วยลงทะเบียนที่หน่วยบริการเฉพาะโรค ฮีโมฟีเลียที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลประจำจังหวัดเพื่อเข้ารับการรักษาเพียง 1,500 คนเท่านั้น ผู้ป่วยเหล่านี้จะได้รับแฟคเตอร์แปดเข้มข้น แฟคเตอร์เก้าคอมเพล็กซ์หรือแฟคเตอร์เก้าเข้มข้น เพื่อรักษาเมื่อเริ่มมีอาการเลือดออก โดยผู้ป่วยฉีดยาเอง ผู้ปกครองฉีดยาให้ หรือนำแฟคเตอร์เข้มข้นไปให้บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ใกล้บ้านเป็นผู้ฉีดให้ ผู้ป่วยทุกรายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถไปโรงเรียนและดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงกับเด็กปกติ

ฮีโมฟีเลียเป็นโรคเลือดออกง่ายเรื้อรังทางพันธุกรรมที่มีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับแฟคเตอร์เข้มข้นที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคเพื่อทดแทนแฟคเตอร์แปดหรือแฟคเตอร์เก้าที่ผู้ป่วยขาด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ร่วมกับมูลนิธิโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย กระทรวงสาธารณสุขและคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินการจัดการดูแลผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียในโครงการโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูงในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสปสช.ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ทำให้วิทยาการเกี่ยวกับการรักษามีความก้าวหน้ามากขึ้น

ในโอกาสนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ร่วมกับมูลนิธิโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย กระทรวงสาธารณสุขและคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงใคร่ขอเรียนเชิญสื่อมวลชนทุกท่าน ร่วมสัมภาษณ์พิเศษ ในประเด็น"ฮีโมฟีเลีย" โรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูงและได้รับการดูแลรักษาจากรัฐบาล ในวันจันทร์ ที่ 23 มกราคม 2560 ณ ห้องประชุมกมลฤดี ชั้น 2 โรงแรมสุโกศล ถนนศรีอยุธยา เวลา 09.00 – 11.00 น. (สถานีรถไฟฟ้า BTS พญาไท) เพื่อให้ทราบถึงความก้าวหน้าของความร่วมมือและการดำเนินการนำร่องของสปสช.ในการรักษาโรคฮีโมฟีเลียใน 8 จังหวัด โดยได้รับเกียรติจาก นพ. ชูชัย ศรชำนิรองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสปสช., ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล,และ ศ.พญ.อำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติโรคฮีโมฟีเลีย กรุงเทพฯรศ.ดร.ชะอรศิลป์ สุขศรีวงศ์ นักวิชาการคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และตัวแทนผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย มาร่วมงานสัมภาษณ์ในครั้งนี้