ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กับ ศาสตร์ว่าด้วยการทำโพล

14 Nov 2016
โดย ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL)

อีเมล [email protected]

เมื่อช่วงเที่ยงของวันพุธที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ตามเวลาประเทศไทย ได้มีโอกาสนั่งดูรายการข่าวโทรทัศน์สถานีหนึ่งพบว่า ทั้งพิธีกรเล่าข่าวและผู้ทรงคุณวุฒิที่รับเชิญมาออกรายการต่างกำลังวิพากษ์วิจารณ์การทำโพลว่าไม่ถูกต้องไม่แม่นยำเพราะเห็นว่า นาย ดอนัล ทรัมป์ กำลังชนะ นาง ฮิลลารี่ คลินตัน ในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกาโดยวิจารณ์กันไปถึงว่า กลุ่มตัวอย่างไม่ตอบความจริงบ้าง เก็บตัวอย่างไม่ครอบคลุมบ้าง ตัวอย่างอายที่จะบอกว่าเลือก นาย ดอนัล ทรัมป์ บ้าง ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่คลาดเคลื่อนไปโดยอาจจะยังไม่เข้าใจระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามากเพียงพอ

ความเป็นจริงคือ ผลโพลที่ชี้ว่าคะแนนนิยมของชาวอเมริกัน ต่อ นางฮิลลารี คลินตัน นำหน้าเหนือนาย ดอนัล ทรัมป์นั้นถูกต้องและแม่นยำแล้ว จนกล่าวได้ว่า นางฮิลลารี คลินตัน มีคะแนนนิยมจากชาวอเมริกันทั่วประเทศเหนือ นาย ดอนัล ทรัมป์ แต่แพ้การเลือกตั้งเพราะระบบการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาที่ใช้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ของแต่ละรัฐที่เป็นไปตามสัดส่วนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละรัฐที่แตกต่างกัน เช่น รัฐฟลอริด้ามีคะแนนของ Electoral College จำนวน 29 คะแนน มิชิแกนมี 16 คะแนน แคลิฟอร์เนียมี 55 คะแนน เป็นต้น โดยมีหลักการว่า ใครชนะการเลือกตั้งในรัฐใดก็จะได้คะแนนรวมของรัฐนั้นไปทั้งหมดและใครได้คะแนนรวมของรัฐต่างๆ ทั้งประเทศเป็นส่วนใหญ่ถึง 270 คะแนนก็จะได้เป็นประธานาธิบดี อ้างอิง https://en.wikipedia.org/wiki/Electoral_College_(United_States)

ดังนั้น ผลคะแนนความนิยมของชาวอเมริกันต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งทั่วประเทศจึงอาจจะเป็นผลคะแนนที่แตกต่างไปจากผลคะแนน Electoral College ได้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจึงเป็นการเลือกตั้งโดยทางอ้อม ดังเห็นได้ว่า ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการออกมาว่า นางฮิลลารี คลินตันได้คะแนนนิยมจากชาวอเมริกันทั้งประเทศได้ 47.7% เหนือคะแนนนิยมของนาย ดอนัล ทรัมป์ ที่ได้ 47.5% แต่นาย ดอนัล ทรัมป์ ได้คะแนนจาก Electoral College เป็นส่วนใหญ่จนชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 หากย้อนกลับไปก่อนวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาประมาณ 2 สัปดาห์ จะพบว่า สำนักข่าว CNN และโพลในสหรัฐอเมริกาหลายสำนัก เผยแพร่ผลโพลว่า นาง ฮิลลารี คลินตันจะได้ความนิยมจากชาวอเมริกัน 49% และนาย ดอนัล ทรัมป์ ได้ 44% โดยมีค่าขอบเขตความคลาดเคลื่อน (margin of error) อยู่ +/- 3.5% อ้างอิงใน http://edition.cnn.com/2016/10/24/politics/hillary-clinton-donald-trump-presidential-polls/ นั่นหมายความว่า ค่าจริงในวันเลือกตั้ง นาง ฮิลลารี คลินตันจะได้รับคะแนนนิยมจากชาวอเมริกันอยู่ระหว่าง 45.5% - 52.5% และนาย ดอนัล ทรัมป์ จะได้รับระหว่าง 40.5% - 47.5%

ยิ่งหากดูผลโพลของ ABC News ที่เผยแพร่ผลโพลออกมาเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ก่อนวันเลือกตั้งประธานาธิบดีได้กว่า 1 สัปดาห์ พบว่า ฮิลลารี คลินตัน จะได้รับคะแนนนิยมจากชาวอเมริกัน 46% และ นาย ดอนัล ทรัมป์ จะได้ 45% โดยมีค่าขอบเขตความคลาดเคลื่อน +/- 3% นั่นหมายความว่า ค่าจริงของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีจากโพลของ ABC News นี้ นางฮิลลารี คลินตัน จะอยู่ระหว่าง 43% - 49% และนาย ดอนัล ทรัมป์ จะอยู่ระหว่าง 42% - 48% อ้างอิงใน http://abcnews.go.com/Politics/clinton-trump-turnout-critical-poll/story?id=43159639

ในที่สุดผลการเลือกตั้งเมื่อวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกา คือ นาง ฮิลลารี คลินตันได้ 47.7% และนาย ดอนัล ทรัมป์ ได้ 47.5% อ้างอิงใน https://www.theguardian.com/us-news/2016/nov/09/hillary-clinton-popular-vote-electoral-college-donald-trump ซึ่งถือว่าผลโพลของทั้งสองสำนักดังกล่าวนี้ทั้ง CNN Poll และ ABC News Poll มีความถูกต้องแม่นยำตามศาสตร์แห่งการทำโพลที่มีต้นตำรับของการทำโพลจากสหรัฐอเมริกาเอง

เช่นกันกับการทำโพลในประเทศไทยที่เพิ่งผ่านการลงประชามติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ที่สำนักวิจัยซูเปอร์โพล ได้เผยแพร่ผลโพลออกมาประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนวันลงประชามติ ผ่านสำนักข่าวต่างๆ ว่า คนจะออกมาใช้สิทธิลงประชามติทั้งหมด 60.5% คนมาใช้สิทธิจริงจากผลการเลือกตั้งของ กกต. อย่างเป็นทางการ 59.4% และคนจะเห็นชอบรับร่างรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 61.5% คนรับร่างฯ จากผลการเลือกตั้งของ กกต. อย่างเป็นทางการจริง 61.4% ตามลำดับ อ้างอิงใน http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=715707 ศาสตร์แห่งการทำโพลที่เกิดขึ้นมาช้านานของกระบวนการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการทำโพลจึงยังเป็นแหล่งของข้อมูลที่สามารถให้ความถูกต้องแม่นยำน่าเชือถือได้

ผลความถูกต้องแม่นยำของโพลจึงไม่ใช่ความบังเอิญที่มาจากการคาดเดาหรือการสุ่มตัวอย่างแบบสุ่มสี่สุ่มห้า แต่เป็นเรื่องการออกแบบตามระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจด้วยหลักสถิติศาสตร์แห่งการกำหนดขนาดตัวอย่างและกระบวนการเลือกตัวอย่างที่ให้โอกาสการถูกเลือกกับทุกหน่วยในกลุ่มประชากรเป้าหมายดังได้ปรากฏความถูกต้องแม่นยำใกล้เคียงความเป็นจริงภายใต้ขอบเขตความคาดเคลื่อนของการเลือกตัวอย่าง (Margin of Error) ที่สื่อมวลชนทุกแขนงควรประกาศไว้ให้สาธารณชนผู้ติดตามข่าวรับทราบทั่วกัน เพราะผลการเลือกตั้งครั้งนี้ นางฮิลลารี่ คลินตัน ได้รับคะแนนนิยมของชาวอเมริกัน เหนือนาย ดอนัล ทรัมป์ ตามผลโพลทุกประการ แต่แพ้การเลือกตั้งให้กับ นาย ดอนัล ทรัมป์ ก็เป็นเพราะระบบการเลือกตั้งคะแนนรวมจาก Electoral College ของแต่ละรัฐ ที่ละเลยคะแนนเสียงโดยตรงจากชาวอเมริกันทั้งประเทศนั่นเอง