RATCH ผนึก MPI คว้าโรงไฟฟ้า 275 เมกะวัตต์ในอินโดนีเซีย จัดตั้งบริษัทร่วมทุนพัฒนาโรงไฟฟ้า และลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว คาดปี 2564 เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้

21 Apr 2017
บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ประกาศความสำเร็จการลงทุนในประเทศอินโดนีเซียในโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม Riau กำลังผลิต 275 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ทั้งนี้ บริษัท อาร์เอช อินเตอร์เนชั่นแนล (สิงคโปร์) คอร์ปอเรชั่น จำกัด (RHIS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของบริษัทฯ ได้ลงนามร่วมทุนกับบริษัท PT Medco Power Indonesia (MPI) จัดตั้งบริษัท PT Medco Ratch Power Riau (MRPR) เป็นผู้ดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้า Riau ดังกล่าว โดยมี RHIS ถือหุ้น 49% และ PT Medco ถือหุ้น 51% เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2560 บริษัท MRPR ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม Riau ระยะเวลา 20 ปี กับ Perusahaan Listrik Negara (PLN) หรือ การไฟฟ้าประเทศอินโดนีเซีย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นความก้าวหน้าสำคัญในการขยายฐานธุรกิจในต่างประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ และอินโดนีเซียถือเป็นประเทศเป้าหมายที่มีศักยภาพและโอกาสการลงทุนทั้งในธุรกิจผลิตไฟฟ้าและพลังงาน ที่สำคัญโครงการนี้เป็นการร่วมทุนกับ MPI ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำของอินโดนีเซีย ถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้ได้รับเลือกเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม Riau จากรัฐบาลอินโดนีเซีย

"MRPR เป็นบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 12,000 ล้านรูเปียห์ (ประมาณ 32.42 ล้านบาท) ทำหน้าที่ดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้า Riau มีมูลค่าโครงการประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับเงินลงทุนจะใช้จาก 2 แหล่ง คือ เงินส่วนทุนประมาณ 25% และเงินกู้ประมาณ 75% บริษัทฯ ได้พิจารณาและป้องกันความเสี่ยงทุกประเด็นอย่างรอบคอบและเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะช่วยสร้างมูลค่าองค์กรให้เติบโตและมีรายได้นับจากเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2564 ผมมั่นใจว่าประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโรงไฟฟ้าที่ยาวนานของบริษัทฯ และ MPI จะทำให้โรงไฟฟ้า Riau ดำเนินการได้แล้วเสร็จตามแผนงานที่วางไว้" นายกิจจา กล่าว

โครงการโรงไฟฟ้า Riau ตั้งอยู่ที่จังหวัด Riau บนเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณปีละ 1,446 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้ระบบไฟฟ้าของอินโดนีเซียมีความมั่นคง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตมั่นคงในระยะยาวด้วย