โรงงานน้ำตาล ชาวไร่อ้อย และภาครัฐ ได้ข้อสรุปตัวเลขปริมาณสต๊อกน้ำตาลทราย 2.5 แสนตัน เชื่อเพียงพอต่อการบริหารความเสี่ยงน้ำตาลขาดแคลน หลังลอยตัวราคาในประเทศ

23 Feb 2017
คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้ข้อสรุปแนวทางลอยตัวราคาน้ำตาลทรายตามตลาดโลกและเลิกระบบโควตาน้ำตาลทราย ก. ข. และ ค. ตามที่ ครม. ได้มีมติไว้ ซึ่งทั้งชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาลและภาครัฐ เห็นพ้องตั้งสำรองน้ำตาลทราย (บัฟเฟอร์ สต๊อก) เดือนละ 2.5 แสนตันจนถึงฤดูหีบใหม่ เชื่อเป็นเกณฑ์ที่เหมาะสม และเพียงพอต่อการบริโภค โดยทุกฝ่ายเห็นพ้องกำหนดกรอบการหาราคาอ้างอิง เพื่อนำมาใช้คำนวณราคาอ้อย และจะได้หารือแนวทางปฏิบัติร่วมกันต่อไป
โรงงานน้ำตาล ชาวไร่อ้อย และภาครัฐ ได้ข้อสรุปตัวเลขปริมาณสต๊อกน้ำตาลทราย 2.5 แสนตัน เชื่อเพียงพอต่อการบริหารความเสี่ยงน้ำตาลขาดแคลน หลังลอยตัวราคาในประเทศ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า กอน. ได้ข้อสรุปแนวทางลอยตัวราคาน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก และการยกเลิกโควตาน้ำตาล ก. ข. และ ค. ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะยกเลิกโควตาน้ำตาล ก. ข. และ ค. เพื่อเปิดเสรีน้ำตาลทรายให้สอดคล้องกับหลัก WTO โดยเห็นชอบตรงกันให้ปรับมาใช้วิธีการสต๊อกน้ำตาลทราย (บัฟเฟอร์ สต๊อก) เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงป้องกันภาวะน้ำตาลทรายในประเทศขาดแคลน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคภายในประเทศได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีรายละเอียดบางประเด็นที่โรงงานน้ำตาลทรายต้องหาข้อสรุปร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอีกครั้งในแนวทางปฏิบัติ และมั่นใจว่าจะไม่เกิดภาวะขาดแคลนน้ำตาลบริโภคในประเทศหลังการยกเลิกโควตา และปล่อยราคาน้ำตาลทรายในประเทศลอยตัวตามกลไกตลาด เนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายถึง 3 ใน 4 ของปริมาณผลผลิตและมีการตั้งปริมาณสต็อกที่โรงงานต้องจัดเก็บสำรองไว้แต่ละเดือนไม่น้อยกว่า 2.5 แสนตันจนถึงฤดูการผลิตใหม่ ซึ่งโรงงานน้ำตาลทรายพร้อมจะปฏิบัติเพื่อดูแลผู้บริโภค

"เนื่องจากการจัดสรรโควต้าจำหน่ายที่มีการขึ้นงวดเป็นรายสัปดาห์ตามระบบเดิมในปัจจุบัน มีน้ำตาลที่ขึ้นงวดแล้วยังค้างจำหน่ายในแต่ละเดือนประมาณ 2 แสนตัน ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขสต๊อกที่ กอน. กำหนดที่เดือนละ 2.5 แสนตัน เพื่อการันตีความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคว่าจะมีน้ำตาลทรายเพียงพอต่อการบริโภคอย่างแน่นอน" นายสิริวุทธิ์ กล่าว

ส่วนแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลกนั้น โรงงานน้ำตาลทรายและชาวไร่ต่างเห็นพ้องกันที่จะให้ปล่อยราคาน้ำตาลทรายในประเทศลอยตัวตามตลาดโลก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค โดยเห็นพ้องกันในกรอบการหาราคาอ้างอิงเพื่อนำมาใช้คำนวณราคาต้นทุนอ้อย โดยใช้ราคา Export parity คือ อิงราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดล่วงหน้า ลอนดอน บวกพรีเมี่ยม โดยจะหารือในรายละเอียดต่อไป ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายทราย (สอน.) จะได้รายงานความคืบหน้าในเรื่องนี้ พร้อมกับการเสนอ ครม. แก้ไข พรบ. อ้อยและน้ำตาลทราย ให้ฝ่ายบราซิลทราบ ในการเจรจาสองฝ่ายอีกครั้งในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้