บกปภ.ช.ประสาน 65 จังหวัดเสี่ยงไฟป่า คุมเข้มป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า – ลดวิกฤตหมอกควัน

30 Mar 2017
ในช่วงฤดูร้อนพื้นที่ภาคเหนือมักได้รับผลกระทบจากหมอกควันปกคลุมและมีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศเกินค่ามาตรฐาน รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน จึงได้สั่งการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 65 จังหวัดเสี่ยงไฟป่าดำเนินการป้องกันไฟป่าและแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างครอบคลุมทุกมิติ ดังนี้
  • จัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับจังหวัด และอำเภอ พร้อมแต่งตั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัด หรือปลัดจังหวัด ทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบในการประสานการแก้ไขปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ และครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการติดตามสภาพอากาศ การประเมินสถานการณ์หมอกควัน และการคาดการณ์ทิศทางการเคลื่อนตัวของหมอกควัน
  • แบ่งมอบพื้นที่ และกำหนดหน่วยงานปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน

› พื้นที่ป่าไม้ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าในพื้นที่ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก หน่วยทหาร ตำรวจ อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยสนับสนุน โดยดำเนินการจัดทำแนวป้องกันไฟ กำจัดวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิง อาทิ กิ่งไม้ ใบไม้ รวมถึงจัดชุดลาดตระเวนเฝ้าระวังและระงับเหตุไฟป่า

› พื้นที่เกษตรกรรม และชุมชน สำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอ และฝ่ายปกครอง เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการตามแผนปฏิบัติการจังหวัด/อำเภอ โดยใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทย (กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน) ขับเคลื่อนภารกิจในการกำหนดกติกา ช่วงเวลาการเผา จัดระเบียบการเผา การประกาศเขตห้ามเผา รวมถึงรณรงค์การไถกลบแทนการเผา

› พื้นที่ริมทาง ให้แขวงการทาง และแขวงทางหลวงชนบท เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก โดยมีฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชน เป็นหน่วยสนับสนุนในการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันไฟป่า มุ่งคุมเข้มมิให้มีการเผาวัสดุทุกประเภทในพื้นที่ริมทาง

  • ดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤตไฟป่าและหมอกควันอย่างเข้มข้น

› คุมเข้มมิให้มีการเผาในพื้นที่ โดยใช้วิธีไถกลบเศษวัสดุทางการเกษตรแทนการเผา หรือใช้สารอินทรีย์ย่อยสลายตอซัง ควบคู่กับการประกาศเขตห้ามเผาอย่างเด็ดขาด รวมถึงเพิ่มกำลังและความถี่ในการลาดตระเวนเฝ้าระวังไฟป่า

› สร้างการรับรู้ในการป้องกันไฟป่าและหมอกควัน รณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายหมู่บ้าน รถกระจายเสียง วิทยุและโทรทัศน์ชุมชนเกี่ยวกับผลกระทบจากไฟป่าและหมอกควัน โดยเฉพาะการห้ามเผาวัสดุทางการเกษตร การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่ลักลอบเผาป่า เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันไฟป่าและแก้ไขปัญหาหมอกควัน

› วางแนวทางป้องกันผลกระทบต่อการบิน โดยให้จังหวัดที่มีสนามบินพาณิชย์ประสานงานกับศูนย์ควบคุมการบิน เพื่อแจ้งสถานการณ์หมอกควัน และวางแผนรองรับกรณีหมอกควันส่งผลกระทบต่อทัศนวิสัยทางอากาศ

› กรณีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ให้แจกจ่ายหน้ากากอนามัยและให้คำแนะนำการปฏิบัติตนในช่วงเกิดสถานการณ์หมอกควัน ระดมวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือฉีดพ่นละอองน้ำ เพื่อเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองหมอกควันในอากาศ

  • เพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยประสานภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่มีโครงการช่วยเหลือสังคม (CSR) สนับสนุนการนำองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยีมาใช้ในการลดการเผาวัสดุทางการเกษตร

ทั้งนี้ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)กระทรวงมหาดไทย ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 65 จังหวัดเสี่ยงไฟป่าดำเนินการป้องกันไฟป่าและและแก้ไขปัญหาหมอกควันในมิติเชิงพื้นที่ ภายใต้กลไก"ประชารัฐ" โดยคุมเข้มมิให้มีการเผาในพื้นที่ควบคุมอย่างเด็ดขาด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการ "ควบคุมปัญหาไฟป่า" และ "วิกฤตหมอกควันเป็นศูนย์" ซึ่งถือเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างประเทศไทยปลอดภัย (Safety Thailand)