วว. ลงนาม อพท. นำผลงานการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษอย่างยั่งยืน

26 Jun 2017
ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการนำผลงานการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษในด้านคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้ทันสมัย เพื่อการแข่งขันในยุคไทยแลนด์ 4.0 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน 2560 ณ ห้องประชุม กวท.ชั้น 8 อาคารวิจัยและพัฒนา วว.เทคโนธานี
วว. ลงนาม อพท. นำผลงานการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษอย่างยั่งยืน

ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมืออย่าง ให้สามารถนำผลงานวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ สร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการในการสร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ เพื่อการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษของ อพท. รวมทั้งเป็นการเป็นการร่วมกันผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยผลิตสินค้าเชิงนวัตกรรม ผู้ประกอบธุรกิจตระหนักและเข้าถึงในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการเพิ่มมูลค่าสินค้าและการบริการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับมาตรฐานคุณภาพของสินค้าและบริการของไทยให้เป็นสากล และเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้นของประเทศคู่ค้าและผู้บริโภคในตลาดในประเทศและต่างประเทศ ให้มีการพัฒนาแบบยั่งยืน

พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผอ.อพท. กล่าวเพิ่มเติมว่า แรกเริ่ม วว.เป็นที่ปรึกษาให้กับ อพท. ในการพัฒนาสินค้าและของที่ระลึก โดยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึก ในพื้นที่พิเศษจังหวัดเลย จำนวน 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ มะพร้าวอ่อนแก้ว ตราเคียงเลย, ขิงผงชงพร้อมดื่ม ตราภู ลมโล, ขนมปังขาไก่จากกล้วยน้ำว้า ตราบานาน่าแฟมิลี่ และสบู่กาแฟ ตราคอฟฟี่ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 ชนิดได้รับความพึงพอใจจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนมีช่องทางการจำหน่ายและมีรายได้จากการจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวในรูปแบบที่ให้นักท่องเที่ยวได้มาเรียนรู้กระบวนการผลิตในพื้นที่ตำบลภูหอด้วย ดังนั้น อพท.จึงได้ร่วมลงนามในความร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ ในการนำผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปใช้ประโยชน์เพื่อยกระดับมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการในพื้นที่พิเศษของ อพท.ทั้ง 6 แห่ง ตลอดจนเพื่อร่วมมือกัน ในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายรัฐบาล ในการผลักดันให้ผู้ประกอบการทางการท่องเที่ยวพัฒนาการ ผลิตสินค้าเชิงนวัตกรรมแบบยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับมาตรฐานคุณภาพของสินค้า และบริการของไทยให้เป็นสากล และเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้นเพิ่มการแข่งขันในยุคไทยแลนด์ 4.0