ทีเอ็มบีมองเศรษฐกิจไทยปี 61 เติบโตต่อเนื่อง ขับเคลื่อนด้วยทุกองค์ประกอบเศรษฐกิจ

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

          นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เผยเศรษฐกิจไทยปี 61 มีแนวโน้มขยายตัว 4.2% สูงกว่าประมาณการเดิม จากแรงส่งของทุกองค์ประกอบเศรษฐกิจที่มีต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาคเอกชน นอกจากนี้ คาดว่าธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง สินเชื่อและเงินฝากเติบโตดี ขณะที่ NPL ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในปี 60 และมีแนวโน้มการก่อตัวของ NPL ใหม่จะลดลงในปี 61
          "TMB Analytics ปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 60 เพิ่มขึ้นเป็น 4.0% จากเดิมคาดการณ์ที่ 3.5%" ปัจจัยผลักดันมาจากมูลค่าส่งออกสินค้าที่เติบโตเร่งขึ้นมากกว่าคาดในไตรมาสสุดท้าย ทำให้ทั้งปีคาดขยายตัวได้ถึง 10.3% ตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนจากการท่องเที่ยวที่เติบโตดี และการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะช่วยชดเชยเม็ดเงินการลงทุนภาครัฐที่มีการเบิกจ่ายต่ำกว่าประมาณการเดิม และการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงเปราะบาง
          "คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 61 ขยายตัวดีต่อเนื่องที่ 4.2% สูงขึ้นจากมุมมองเดิมที่ 3.8% สอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งมากขึ้นและปัจจัยหนุนจากแรงส่งที่สูงขึ้นของเศรษฐกิจไทยในปีก่อนหน้า" ในส่วนของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวหนุนปริมาณการค้าโลกให้ขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดความต้องการสินค้าโลกจะเติบโต 4% เป็นผลดีต่อการส่งออกของไทยให้ขยายตัวได้ 4.8% แม้เป็นอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อนหน้าซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานสูง แต่โดยเฉลี่ยมูลค่าส่งออกจะอยู่ที่เดือนละไม่ต่ำกว่า 20.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งเป็นระดับสูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา โดยเป็นการเติบโตในทุกตลาดและสินค้าหลักสำคัญ แม้กระทั่งตลาดจีนที่การขยายตัวของเศรษฐกิจไม่ร้อนแรง แต่ก็คาดว่าการส่งออกไปจีนจะเติบโต 8% ซึ่งเป็นผลจากความต้องการสินค้าของผู้บริโภคในยุคดิจิตอลและการมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งความต้องการยางพาราเพื่อใช้ผลิตยางรถยนต์
          ขณะเดียวกัน การฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจโลก นำไปสู่การดำเนินนโยบายการเงินในทิศทางที่ผ่อนคลายลดลง สภาพคล่องทางการเงินเดิมที่มีอยู่มากจากการอัดฉีดเงินหรือการทำ QE ของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มลดลง ตามมาด้วยการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมมีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯอีกในปีนี้ ซึ่งเราคาดว่าจะเกิดขึ้น 3 ครั้งแต่ยังคงเห็นแนวโน้มเงินทุนไหลเข้าในภูมิภาค สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจในภูมิภาคที่แข็งแกร่งรวมทั้งเศรษฐกิจไทยที่ได้อานิสงส์จากการเติบโตของการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่องในปีนี้ คาดแตะระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงสิ้นปีจาก 32.5 ณ สิ้นปี 60
          ในส่วนของ เครื่องยนต์เศรษฐกิจในประเทศ มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง คาดว่าจะเห็นการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น จากหลายปัจจัยสนับสนุนทั้งการส่งออกที่สดใส เป็นผลให้มีการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มขึ้น การลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวถึง 12% เมื่อพิจารณาจากงบลงทุนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่รวมแล้วแตะระดับ 1 ล้านล้านบาท เป็นระดับที่สูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง อาทิ มอเตอร์เวย์เส้นทางพัทยา-มาบตาพุด รถไฟทางคู่เส้นทางชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ตลอดจนมีแนวโน้มที่จะเร่งการลงทุนด้านคมนาคมในทุกมิติ เพื่อรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่น การขยายถนน ขยายช่องทางการจราจรและโครงข่ายถนนสายรองในพื้นที่ภาคตะวันออก นอกจากนี้ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมก็จะเห็นอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง 
          การท่องเที่ยวเติบโตดีต่อเนื่อง คาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 61 เพิ่มขึ้นเป็น 37 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 6.5% เป็นการเติบโตจากแทบทุกตลาดนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในแง่ภาพรวมโครงสร้างรายได้จากภาคท่องเที่ยวในปี 59 พบว่า 2 ใน 3 มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ส่วนใหญ่มาจากเอเชียตะวันออกและอาเซียน ซึ่งค่อนข้างอ่อนไหวต่อการปรับเปลี่ยนการเดินทางเป็นปัจจัยที่ต้องระวัง นอกจากนี้ กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมท่องเที่ยวกระจุกอยู่ใน 4 จังหวัด (กรุงเทพฯ ชลบุรี
สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต) ทำให้โครงสร้างรายได้ภาคการท่องเที่ยวไม่กระจายตัวมากนัก เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ครัวเรือนให้ฟื้นตัวได้ช้า 
          การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มทรงตัว โดยขยายตัว 3.0% จากปัจจัยสนับสนุนการบริโภคยังไม่เข้มแข็งทั้งรายได้นอกภาคเกษตรและรายได้ภาคเกษตร หรืออีกนัยหนึ่งเศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่การส่งผ่านผลดีไปยังการจ้างงานและรายได้ครัวเรือนยังไม่เข้มแข็งสะท้อนจากการจ้างงานนอกภาคเกษตรซึ่งมีการจ้างงานคิดเป็น 70% ของการจ้างงานรวม ได้รับผลกระทบจากการจ้างงานที่ปรับลดลง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยในภาคการผลิตและภาคก่อสร้าง อีกทั้งอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ในส่วนของรายได้เกษตรกรพบว่าราคาสินค้าเกษตรโดยรวมถูกกดดันจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ยกเว้นราคายางพาราที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ทำให้ภาพรวมรายได้เกษตรกรในปี 61 ไม่ขยายตัว ฉุดกำลังซื้อและการบริโภคในภูมิภาค 
          ในด้านตลาดการเงิน คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะค่อยๆ ปรับตัวจาก 1.5% สู่ระดับ 2.0% ในปี 61 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องและแนวโน้มดอกเบี้ยโลกขาขึ้น 
          "ส่วนการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในปี 61 มีแนวโน้มดีขึ้น ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาครัฐ" สินเชื่อโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัว 5.3% ปรับลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 5.7% จากยอดสินเชื่อในปี 60 ที่คาดว่าจะเติบโตเพียง 4% โดยการขยายตัวของสินเชื่อมาจากเติบโตของธุรกิจขนาดใหญ่ นำโดยธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ได้รับผลดีจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และภาคธุรกิจที่เริ่มมีการขยายกำลังการผลิต ส่วน SME และสินเชื่อรายย่อยยังคงทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในส่วนของสินเชื่ออุปโภคบริโภค ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อจะทยอยปรับตัวดีขึ้นจากการปลดล็อครถคันแรก แต่ยังมีปัจจัยลบจากรายได้ภาคเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ 
          ในด้านคุณภาพสินเชื่อ เรามองว่าสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มปรับลดลงในปี 61 โดย 82% ของมูลค่า NPL อยู่ที่สินเชื่อ SME และสินเชื่อรายย่อย อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่ NPL จะลดลงตามการปรับดีขึ้นของเศรษฐกิจ โดยจะเห็นการก่อตัวของ NPL (NPL Formation) มีแนวโน้มลดลงเช่นกันในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้าที่ปรับดีขึ้นตามการลงทุนภาคเอกชน
          ด้านเงินฝากมีแนวโน้มขยายตัว 5.5% ปรับลดจากคาดการณ์เดิมที่ 5.9% จากยอดเงินฝากปี 60 ที่คาดเติบโตเพียง 4.3% โดยเงินฝากที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นไปตามความต้องการสินเชื่อและทิศทางการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 61 จากความต้องการสินเชื่อในปีนี้ที่เร่งขึ้น คาดว่าจะทำให้สภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ตึงตัวขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ดี เมื่อมองสภาพคล่องโดยรวมของประเทศแล้ว เรายังมีสภาพคล่องเหลือกว่า 12 ล้านล้านบาท" นายนริศ กล่าวสรุป ◼
ทีเอ็มบีมองเศรษฐกิจไทยปี 61 เติบโตต่อเนื่อง ขับเคลื่อนด้วยทุกองค์ประกอบเศรษฐกิจ
 
ทีเอ็มบีมองเศรษฐกิจไทยปี 61 เติบโตต่อเนื่อง ขับเคลื่อนด้วยทุกองค์ประกอบเศรษฐกิจ
ทีเอ็มบีมองเศรษฐกิจไทยปี 61 เติบโตต่อเนื่อง ขับเคลื่อนด้วยทุกองค์ประกอบเศรษฐกิจ

ข่าวศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ+นริศ สถาผลเดชาวันนี้

เศรษฐกิจไทยเติบโตได้แค่ไหน? เมื่อโมเมนตัมโลกไม่เหมือนเดิม

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวจากปัญหาเงินเฟ้อสูงต่อเนื่องกระทบการค้าโลก ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2566 นี้ ยังเติบโตได้ต่อเนื่องที่ 3.4% จากการเปิดประเทศของจีนช่วยหนุนการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวเร็ว ประกอบกับการบริโภคในประเทศขยายตัวดีต่อเนื่อง ความเสี่ยงหลักในปีนี้เป็นการส่งออกสินค้าไทยมีโอกาสหดตัว และภาวะหนี้ครัวเรือนสูงโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ อย่างไรก็ดี ภาพรวมเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังคง

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหา... ทีเอ็มบีหั่นเป้าเศรษฐกิจเหลือโต 3% มองปัจจัยบวกจากรัฐบาลใหม่หนุนเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง — นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเ...

ทีเอ็มบี โดยนายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้... ภาพข่าว: ทีเอ็มบี เจาะลึกเศรษฐกิจไทยพร้อมตั้งรับ EEC ในยุคดิจิทัล — ทีเอ็มบี โดยนายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ จัดงาน TMB The Eco...

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์... เศรษฐกิจไทย เล็กๆ...ไม่ ใหญ่ๆ...โต — นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เผยเศรษฐกิจไ...

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์... ถอดรหัสเศรษฐกิจ เจาะลึกธุรกิจไทยด้วย Big Data — นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยเศรษฐกิจ...

เศรษฐกิจไทย 3.5 …พร้อมก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส และดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในปี 2560 เติบโตได้ต่อเนื่อง โดยเครื่องยนต์ทุกด้านมีแรงขับเคลื่อนมากขึ้น ...

TMB Analytics จัดงาน “เศรษฐกิจไทย 3.5...พร้อมก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0”

TMB Analytics ขอเชิญสื่อมวลชนร่วมงาน "เศรษฐกิจไทย 3.5...พร้อมก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0" วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม 2559 เวลา 10.00 – 12.00 น. ห้องโถง ชั้น 7 ทีเอ็มบี สำนักงานใหญ่ ถนนพหลโยธิน กำหนดการ 10.00 -10.30 น. สื่อมวลชนลงทะเบียน /...