พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานและสักขีพยาน ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในด้านการป้องกันภัยคุกคามทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และภัยสุขภาพจากบุหรี่บริเวณพื้นที่ชายหาด โดยได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร.ชวนี ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายแพทย์ กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นสักขีพยาน
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ประกอบไปด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ประธานคณะกรรมการบริหาร
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไม้รูด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองขุด นายกเทศมนตรีตำบลเนินพระ นายกเทศมนตรีตำบลเกล็ดแก้ว นายกเมืองพัทยา นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข นายกเทศมนตรีตำบลเกาะสีชัง นายกเทศมนตรีเมืองชะอำ นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน นายกเทศมนตรีตำบลหาดทรายรี นายกเทศมนตรีตำบลเกาะเต่า นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมตะลุมพุก นายกเทศมนตรี
นครสงขลา นายกเทศมนตรีเมืองตะลุบัน นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง นายกเทศมนตรีตำบลพรุใน นายกเทศมนตรีตำบลคึกคัก นายกเทศมนตรีตำบลศาลาด่าน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหาดสำราญ โดยการลงนามดังกล่าวจัดขึ้น ในวันอังคารที่ 31 ตุลาคม 2560 ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ""ขยะ"" เป็นประเด็นปัญหาระดับประเทศ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อแก้ปัญหามาโดยตลอด อาทิ การใช้มาตรการการเกิดของเสียโดยหลัก 3Rs (Reduce Reuse Recycle) ส่งเสริมการใช้ GreenProduct การบริหารจัดการขยะมูลฝอยแบบผสมผสานที่เน้นการแปรรูปเป็นพลังงาน การรวมกลุ่มองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นโดยมีเอกชนร่วมดำเนินการ แผนปฏิบัติการ ""ประเทศไทย
ไร้ขยะ"" ตามแนวทาง ""ประชารัฐ"" รวมถึงการรณรงค์สร้างจิตสำนึกทุกรูปแบบในหลากหลายกลุ่มเป้าหมาย แต่จากการที่มีผลงานวิจัยของประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ๒๕๕๘ โดยใช้ข้อมูลปี ๒๕๕๓ ของ ๑๙๒ ประเทศ บ่งชี้ว่าประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับ ๖ ที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก ซึ่งแม้ว่าการกรมควบคุมมลพิษจะทำการคำนวณใหม่โดยใช้ข้อมูลจริงของประเทศ ทำให้อันดับของประเทศไทย ขยับจากอันดับ ๖ เป็นอันดับที่ ๑๒ ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ประเทศเรายังมีขยะอยู่ในทะเลเป็นปริมาณมาก ข้อมูลนี้ เป็นภาพสะท้อนของผลการดำเนินการที่ผ่านมา ว่าเรายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ปัญหาขยะทะเล เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และได้ก่อให้เกิดผลกระทบทำให้สภาพของทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมลง โดยเฉพาะระบบนิเวศบริเวณชายฝั่ง ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อห่วงโซ่อาหารอันมีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำและทรัพยากรชายฝั่ง เพราะขยะที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ท้ายที่สุดแล้วก็จะไหลลงสู่ทะเล จึงทำให้ในทะเลมีขยะจำนวนมากที่ส่งผลกระทบกับสัตว์น้ำทะเลและสิ่งแวดล้อมในทะเล โดยขยะที่พบบ่อยที่สุดในบริเวณชายหาดนั้นก็คือ ก้นกรองบุหรี่ ที่ได้มีการประมาณการณ์ทั่วโลกไว้ว่า ก้นกรองบุหรี่ประมาณ 4.5 ล้านล้านชิ้นที่ถูกผลิตและใช้ในแต่ละปีประมาณ 30% ถูกทิ้งกลายเป็นขยะในสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดมลพิษมากกว่า 500,000 ตัน/ปี โดยข้อมูลจาก 91 ประเทศที่มีชายหาดพบว่าขยะที่เกิดจากบุหรี่อันประกอบด้วยซองและก้นบุหรี่ มีปริมาณหนึ่งในสามของขยะทั้งหมดของชายทะเลและชายหาด โดยเฉพาะประเทศไทยในแต่ละวันมีก้นบุหรี่เกิดขึ้นกว่า 100 ล้านชิ้น ตกค้างในที่ต่างๆ ซึ่งขยะจากบุหรี่นั้นประกอบไปด้วยสารท๊อกซิน (Toxin) นิโคติน (Nicotine) ยาฆ่าแมลง และสารก่อมะเร็ง ซึ่งสามารถปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและแหล่งน้ำได้ดีสามารถทำให้เกลือและน้ำสะอาดมีพิษ มีผลโดยตรงต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ขึ้น จะส่งผลดีต่อชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ที่จะต้องอาศัยความร่วมมือในการมีส่วนร่วมเพื่อสนับสนุนการดำเนินการมาตรการคุ้มครองชายหาด ในการลดปัจจัยเสี่ยงจากพิษภัยของการสูบ หรือการทิ้งก้นบุหรี่ รวมทั้งขยะมูลฝอย หรือมลภาวะอื่นๆ มิให้มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสุขภาพของประชาชน อีกทั้งมีความร่วมมือกันในการ รณรงค์สร้างความเข้าใจ พร้อมกับการเฝ้าระวัง ป้องกันภัยคุกคามทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบริเวณชายหาด รวมถึงเป็นการควบคุมโรคและภัยสุขภาพจากบุหรี่ หรือขยะมูลฝอย หรือมลพิษอื่นๆ บริเวณพื้นที่ชายหาดให้เกิดประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดปัญหาการทิ้งก้นบุหรี่ ขยะมูลฝอย หรือมลพิษ อื่นๆ ให้น้อยลง และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนต่อไป
ทางด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาว ๓,๑๔๘ กิโลเมตร เป็นหาดทราย ๓๕๗ แห่ง ความยาว ๑,๖๓๐ ก.ม. ในพื้นที่ ๑๘ จังหวัด อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๒๖๘ แห่ง และหน่วยงานราชการ ๘๙ แห่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ทำการสำรวจปริมาณก้นบุหรี่ ในชายหาดจำนวน ๕ แห่งที่มีการสำรวจ ด้วยวิธีสุ่มเก็บข้อมูลเชิงปริมาณตลอดแนวชายหาด โดยการขุดสำรวจความลึกในพื้นทรายตั้งแต่ระดับความลึกที่ระดับ 5 ซ.ม. จนถึง 20 ซ.ม. พบว่ามีก้นบุหรี่ทิ้งอยู่เป็นจำนวนมาก เช่นพื้นที่หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต พบก้นบุหรี่ ๑๐๑,๐๐๐ ชิ้น คิดเป็น ๐.๗๖ ชิ้นต่อตารางเมตร หาดบางแสน จ.ชลบุรี พบก้นบุหรี่ ๑๐๖,๔๘๐ ชิ้น คิดเป็น ๐.๖๒ ชิ้นต่อตารางเมตร
หาดชลาทัศน์ จ.สงขลา พบก้นบุหรี่ ๑๗๗,๐๐๐ ชิ้น คิดเป็น ๓.๕๖ ชิ้นต่อตารางเมตร หาดแม่พิมพ์ จ.ระยอง พบก้นบุหรี่ ๑๑๒,๔๗๐ ชิ้น คิดเป็น ๒.๓๐ ชิ้นต่อตารางเมตร หาดทรายรี จ.ชุมพร พบก้นบุหรี่ ๕๒,๓๗๘ ชิ้น คิดเป็น ๑.๐๕ ชิ้นต่อตารางเมตร